หลายคนอาจเคยเลื่อนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียชมสินค้าหรูราคาแพงหรือบ้านราคาหลักหลายร้อยล้านให้ตาร้อนผ่าวเล่น ๆ คุณไม่ใช่คนเดียวบนโลกที่เป็นเช่นนี้ เพราะนี่คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Dreamscrolling เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นภาวะเสพติดชมของช็อปราคาเกินเอื้อม
เบธ มาร์ติน ดีไซเนอร์ ที่แม้กายจะอยู่ในรัฐเซาธ์แคโรไลนา แต่หมายตาคฤหาสน์ฝรั่งเศสอายุเก่าแก่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1700 ซึ่งได้พบเจอผ่านเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ Zillow ที่ช่วยสร้างประสบการณ์สานฝันการซื้อคฤหาสน์ทิพย์ให้กับเธอ
มาร์ติน บอกกับรอยเตอร์ว่า “ฉันไม่คิดจะซื้อของพวกนี้จริง ๆ หรอก ไม่ว่าจะเป็นบ้านราคา 11 ล้านดอลลาร์ หรือกระเป๋าแอร์เมสรุ่นวินเทจ ราคา 30,000 ดอลลาร์ก็เถอะ ... แต่ฉันชอบที่ได้ดูข้าวของพวกนี้ มันเป็นการฝันกลางวันของฉัน”
มาร์ตินไม่ได้เป็นแบบนี้เพียงลำพัง เพราะว่ากิจกรรมยามว่างของเธอนั้น มีชื่อแสนเก๋ว่า Dreamscrolling อ้างอิงจากบริษัทบริการด้านการเงิน Empower ซึ่งได้ทำการศึกษาใหม่ที่พบว่าชาวอเมริกันใช้เวลา 2.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือราว 873 ชั่วโมงต่อปี ในการดูสินค้าในฝันที่ไม่ได้ซื้อบนโลกออนไลน์
สำหรับสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ผู้คนเข้าไป Dreamscrolling กันมากที่สุด ได้แก่ รองเท้าและเครื่องประดับ 49% อุปกรณ์เทคโนโลยี 30% ของแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ 29% สถานที่พักผ่อน 25% สินค้าด้านความงาม 23% และบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ 21%
รีเบกกา ริกเคิร์ต หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารจาก Empower บอกกับรอยเตอร์ว่า “นี่คือทางออกของทุกอย่างที่เราฝันใฝ่ การจินตนาการการเกษียณในอุดมคติ การมองหาบ้าน การหาที่พักผ่อนหย่อนใจ”
Dreamscrolling นั้น ตรงข้ามกับคำว่า Doomscrolling ซึ่งเป็นคำที่ได้รับความนิยมในช่วงโควิดระบาด และเกิดขึ้นโดยนักข่าวแคนาดา แคเรน เค. โฮ ที่ให้ความหมายว่า การเสพติดการรับข่าวสารร้าย ๆ อย่างต่อเนื่อง
โฮ ที่ตอนนี้เป็นนักเขียนอาวุโสที่ ARTNews ซึ่งคอยเตือนใจให้ผู้คนวางมือถือลงและห่างจากมันสักพัก ได้กลับมาเตือนให้ระมัดระวังเกี่ยวกับ Dreamscrolling ที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัยเท่า แต่เราไม่ควรใช้เวลาทั้งวันเพื่อนั่งฝันเกี่ยวกับเกาะบาหลีหรือการซ่อมห้องน้ำใหม่ในฝันมากนัก
ในการศึกษาของ Empower ชี้ว่า Dreamscrolling อาจส่งผลเชิงบวกได้หากไม่ทำมากเกินอัตรา และเลือกเฟ้นสิ่งที่เราต้องการในชีวิตและจัดระบบความคิดและการกระทำ เพราะในการศึกษาพบว่า 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามของ Empower บอกว่า Dreamscrolling เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้
มี 3 วิธีในการหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินตัวของบรรดาคนช่างฝันช่างไถฟีดโซเชียลในสินค้าราคาเกินเอื้อม
กำหนดลิมิต
หากกำลังหาบ้านหรือที่พักผ่อนเพื่อหลีกหนีความเครียดในการทำงานก็สามารถทำได้ แต่หากต้องใช้เวลาบนโลกออนไลน์เพื่อสิ่งนี้หลายชั่วโมงต่อวัน นั่นเริ่มกระทบกับประสิทธิภาพการทำงานแล้ว และพบว่าคนกลุ่ม Gen Z ทำแบบนี้บ่อยที่สุด เพราะใช้เวลาในการ Dreamscrolling มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
โฮ กล่าวว่า “มันคุ้มที่จะคุมเวลาบนแอปพลิเคชันอินสตาแกรมและติ๊กตอกไว้เสมอ และคิดให้ตกว่าการท่องเว็บ Zillow มันสนุกหรือยิ่งทุกข์ขึ้นกันแน่” และว่า “อย่าลืมว่าคนที่ทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวหรืออสังหาริมทรัพย์มีเป้าหมายและแรงจูงใจบางอย่าง เช่น เรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ และหาคนติดตามเพิ่ม”
ทำแผนที่ชัดเจน
Dreamscrolling อาจนำไปสู่ความต้องการซื้อหรือสัมผัสประสบการณ์จริง ๆ แต่ก็ต้องมีแผนการเพื่อให้ไปถึงจุดหมาย โฮ เสริมว่า “สิ่งที่เป็นคุณค่าที่สุด คือ การใช้ความฝันเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแผนที่แท้จริงสำหรับบางสิ่ง” และว่า “การคิดว่าต้องใช้เงินและพลังงานมากแค่ไหน และเดินหน้าตามกระบวนการเก็บออมหรือค้นคว้าเพิ่มเติม”
วางมือถือลงก่อน
พักการช้อปของในฝันด้วยการกดมันทิ้งไว้ในตะกร้าสินค้นออนไลน์ หรือทิ้งไว้หน้าเว็บที่เราจะกลับมาดูซ้ำในอนาคตได้อีกครั้ง จะเป็นจุดวัดใจที่ดี
อย่าไปตื่นเต้นกับเครื่องหมาย “ซื้อ” มากนัก เพราะต้นทุนของการซื้อแบบกะทันหันไม่ทันชั่งใจ สร้างความเสียหายกับเงินในกระเป๋าของผู้คนราว 86,593.40 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย อ้างอิงจากข้อมูลของ Empower
นั่นอาจทำให้คุณเจอกับปัญหาการเงินของจริง ดังนั้น อย่ากดซื้อจนกว่าจะแน่ใจว่าดีดลูกคิดมาหนักแล้ว
ริกเคิร์ต ทิ้งท้ายว่า “นี่คือยุคแห่งตะกร้าช้อปปิ้งที่ถูกทิ้งร้าง” และว่า “ความจริงเกือบ 1 ใน 3 ของผู้คนที่บอกว่า Dreamscrolling ช่วยพวกเขาเลี่ยงการซื้อของอย่างไม่วางแผนไว้ล่วงหน้าได้ และช่วยพวกเขาค้นหาสิ่งที่ต้องการได้จริง”
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น