ทุกธุรกิจมีสูตรลับของตัวเอง อย่างร้านอาหาร ร้านกาแฟ ต่างก็มีเมนูไม้ตายที่ทำให้ลูกค้าต้องกลับมารับประทานกันเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีดาดดื่นทั่วอเมริกา ต่างก็มีกลเม็ดเด็ดพรายไว้ดึงดูดลูกค้าด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การจัดวางสินค้า การเปิดเพลงรื่นหู หรือแม้กระทั่งการฉีดกลิ่นเพื่อสร้างบรรยากาศในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเว็บไซต์ healthyway.com ได้ชี้พิกัด 9 สูตรลับดำมืดของอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้เราช้อปอย่างชาญฉลาดมากขึ้น
อย่างแรก คือ ขนาดของรถเข็น – ยิ่งใหญ่ยิ่งดี
เคยสังเกตหรือไม่ว่าเมื่อเรารู้ตัวอีกที ข้าวของที่หยิบใส่รถเข็นในซูเปอร์นั้นเต็มเสียแล้ว ซึ่งห้างร้านเหล่านี้ตระหนักถึงจุดนี้ และนำมาใช้เป็นกลยุทธ์การตลาด โดยข้อมูลจาก Consumerist.com ระบุว่า ขนาดของรถเข็นในซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกานั้นใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และจากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาการตลาด Martin Lindstorm พบว่า เมื่อรถเข็นใหญ่ขึ้น 1 เท่าตัว จะทำให้ลูกค้าจับจ่ายมากขึ้นร้อยละ 40 ทีเดียว
แล้วขนาดของตะกร้านั้นให้ผลลัพธ์เดียวกันหรือไม่? คำตอบคือ ถ้าคุณมีกล้ามแขนที่แข็งแรงก็แนะนำให้ใช้ตะกร้าในการช้อป เพราะคุณจะรู้ตัวว่าช้อปมากไปตามน้ำหนักของตะกร้า แต่สัญญาณเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นหากเป็นตะกร้าที่มีรถเข็นติดมาด้วยในบางห้างร้าน
อย่างที่สอง คือ “วันหมดอายุ” มันเปลี่ยนกันได้
ตามข้อมูลขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA ระบุว่า ทาง FDA ไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการต้องระบุ “วันหมดอายุ” ทั้งคำว่า expired by, used by หรือ best before บนอาหารต่างๆ ยกเว้นแต่นมผงเด็ก และมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้ผลิตไปโดยตรง ดังนั้นกลุ่มที่ยึดถือฉลากดังกล่าวโปรดระวัง
แต่อย่าตกใจเกินเหตุ เพราะคุณควรสังเกตลักษณะของอาหารที่จะซื้อให้ดี รวมทั้งดูฉลากว่ามีการแปะ “วันหมดอายุ” ซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือไม่ และหากซื้อไปแล้วมีปัญหา ก็สามารถนำกลับขอคืนเงิน หรือ refund ซึ่งเป็นเรื่องปกติในอเมริกาได้
อย่างที่สาม คือ เนื้ออาจไม่ได้ดูน่ากินอย่างที่เห็น
ซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาหลายแห่ง ใช้สารทรานส์กลูตามิเนส (transglutaminase) หรือที่เรียกว่า กาวติดเนื้อ ซึ่งยึดติดชิ้นเนื้อต่างๆเข้าด้วยกัน สามารถเนรมิตสเต็กชิ้นโตน่ากินจากเศษเนื้อขึ้นมาได้ และนำมาขายในราคาปกติเสียด้วย ที่ยากกว่านั้นคือเราไม่สามารถแยกออกด้วยตาเปล่าได้ว่าเนื้อชิ้นใดใช้ “กาวติดเนื้อ” ตั้งแต่หน้าตา สีสัน และรสชาติหลังปรุงไปแล้ว
ถ้าคิดว่า กาวติดเนื้อ น่ากลัวแล้ว มีที่น่าสะพรึงกว่านั้น คือ การปศุสัตว์วัวนมและวัวเนื้อ พวกมันจะได้กินมูลไก่ เนื้อไก่ที่ตายแล้ว และเศษอาหารเหลือๆ ที่มีโปรตีนจากวัวเข้าไปอีกที ประมาณ 2,000 ล้านปอนด์ทุกปี
อย่างที่สี่ คือ เฉดสีของกล้วยหอมกระตุ้นขาช้อปได้ดี
ข้อมูลจาก National Geographic ระบุว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อศึกษาจิตวิทยาของขาช้อป บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอนด์ จะมีวิธีการจัดเรียงผักและผลไม้ และจัดวางแสงที่สาดส่องลงไปยังพืชผลเหล่านี้เพื่อดึงดูดความสนใจนักช้อป เพราะเชื่อว่าเมื่อลูกค้าเห็นแผนกผักผลไม้ดูน่ากิน จะยิ่งกระตุ้นความอยากช้อปได้มากขึ้นไปอีก
หนึ่งในผลไม้ที่เป็นพระเอกของซูเปอร์มาร์เก็ต ก็คือ กล้วยหอม
นักวิเคราะห์ด้านการตลาด เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชื่นชอบกล้วยหอมที่มีสี 12-0752 หรือ Buttercup ซึ่งเป็นสีเหลืองเรื่อน่ารับประทาน มากกว่าสี 13-0858 หรือ Vibrant Yellow ตามหลัก pantone หรือระดับเฉดสี ซึ่งบรรดาเกษตรกรในอเมริกาก็ขานรับความต้องการของตลาดนี้ด้วย
ทั้งนี้ สีกล้วยที่เหลืองในระดับที่แตกต่างกันนั้นไม่ได้มีผลต่อรสชาติแต่อย่างใด
อย่างที่ห้า คือ การจัดวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต คือ เคล็ดลับดูดเงินในกระเป๋านักช้อป
ทุกซูเปอร์มาร์เก็ต จะมีพิกัดที่เรียกว่า ชั้นวางสินค้าพิเศษ หรือ end cap พบเห็นได้บริเวณปลายทางของแผนกสินค้าชนิดต่างๆ รวมทั้งอาจเป็นการจัดวางสินค้าบางกลุ่มขึ้นมาเฉพาะโอกาส ซึ่งการศึกษาพบว่า ชั้นวางสินค้าเหล่านี้ ดูดเงินในกระเป๋านักช้อปได้ถึงร้อยละ 33 ทีเดียว
อย่างที่หก คือ ทุกสิ่งดูรื่นรมย์เมื่อถึงแผนกเบเกอรี่
ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตทราบดีว่า แผนกเนื้อสดนั้นเป็นจุดอ่อนของตลาดติดแอร์ ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงเลือกจะทุ่มเงินเพื่อลงทุนในสิ่งที่หอมหวาน อย่างแผนกเบเกอรี่
ดร.เดวิด เอ. เคสเลอร์ (David A. Kessler) ผู้เขียนหนังสือ The End of Overeating: Taking Control of Insatiable American Appetite บอกว่า อาหารที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และเกลือ จะทำให้เราไขว้เขวได้ง่ายเสมอ
อย่างที่เจ็ด คือ สเปรย์ เคล็ดลับรักษาผักผลไม้ให้สดอยู่เสมอ
น้ำช่วยให้ผักผลไม้สดใหม่อยู่เสมอ แม้ว่ามันจะไม่สดตามที่ควรจะเป็นก็ตาม ตามการเปิดเผยของบล็อคเกอร์ด้านอาหาร ลอรี เทย์เลอร์ ที่บอกว่า ผักผลไม้ที่คุณเห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ใช้เวลาเดินทางจากต้นทางมายังหน้าร้านนานถึง 6 เดือนทีเดียว
สิ่งที่ควรกังวลไม่ใช่ความสดใหม่ของผักผลไม้ แต่คือความสะอาดจากน้ำที่สเปรย์ลงไป ดังนั้นต้องล้างผักผลไม้จากซูเปอร์มาร์เก็ตให้สะอาดก่อนบริโภค
อย่างที่แปด คือ ปลาและอาหารทะเล เป็นสิ่งน่าพิศวงในซูเปอร์มาร์เก็ต
คุณอาจจะแยกหมูและไก่ออกจากกันได้ แต่บางครั้งคุณอาจแยกประเภทของอาหารทะเลไม่ออก ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตก็ประสบปัญหาเดียวกัน
โดยองค์กรปกป้องมหาสมุทรนานาชาติ Oceana เปิดเผยรายงานการตรวจสอบอาหารทะเล 25,000 ชนิดจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก พบว่า อาหารทะเลร้อยละ 30 พบการ “แปะป้ายผิด” ยิ่งไปกว่านั้น ปลาทะเลร้อยละ 58 ที่อยู่ในการสำรวจ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย
และอย่างสุดท้าย คือ ถ้าซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ผ่านมาตรฐานความสะอาดปลอดภัย ก็แค่ถูกหักคะแนน แต่ไม่เคยถูกปิดตัว สะท้อนอิทธิพลอันน่ากลัวของธุรกิจประเภทนี้
เมื่อเราทราบความลับดำมืดของซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลมากนัก เพราะการวางแผนที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
โดยจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของ RAND Corporation ใน Pittsburgh เมื่อปี 2015 พบว่า หากเรามีการทำรายการซื้อของ หรือ shopping list ขึ้นมาทุกครั้งก่อนช้อป จะช่วยให้เราเลือกสินค้าบริโภคที่ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น เพราะเราได้คัดเลือกสิ่งที่ดีต่อตัวเองตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน โดยไม่ถูกหลอกล่อด้วยกลยุทธ์การตลาดได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน