นักวิเคราะห์การเมืองทั้งในสหรัฐฯและยุโรป มีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความไร้ประสบการณ์และความอ่อนหัดทางการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะในเรื่องการต่างประเทศ และการเตรียมตัวรับมือกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ มีความสนใจอย่างยิ่งที่จะรับฟังการถ่ายทอดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ของนางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ในเรื่องที่เกี่ยวกับประธานาธิบดีปูติน เพราะอาจกล่าวได้ว่า ผู้นำหญิงแห่งเยอรมนีนั้นรู้จักประธานาธิบดีปูตินมากกว่าใคร เพราะทั้งได้พบและสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างกันมานับร้อยครั้งแล้ว
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง นายโดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวหานายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ว่าเป็นผู้ทำให้เยอรมนีพังพินาศจากนโยบายอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน นางแมร์เคิล ซึ่งมีความสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็เคยตำหนิคำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ทรัมป์ เกี่ยวกับการห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศด้วย
แต่ในขณะนี้้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า ผู้นำสหรัฐฯ นั้นต้องการก้าวข้ามความเห็นที่แตกต่างกันเพื่อสร้างจุดยืนร่วมกันในเรื่องต่างๆ ทั้งด้านการค้า ไปจนถึงการทำสงครามในโลกไซเบอร์ของรัสเซีย และการที่รัสเซียใช้กำลังบุกเข้าไปในยูเครนด้วย
นายสตีเฟน ซาโบ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบัน ทรานซ์แอตแลนติค อคาเดมี กล่าวว่า นายรัฐมนตรีแมร์เคิล มีความกังวลว่า ปธน.ทรัมป์ จะมีความผ่อนปรนกับรัสเซียมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อมาตรการลงโทษต่อรัสเซียที่เยอรมนีเป็นผู้ผลักดัน หลังจากรัสเซียใช้กำลังบุกเข้าไปในยูเครน
ขณะที่ในด้านการค้า ปธน.ทรัมป์ เคยกล่าวบนเวทีหาเสียงด้วยการโจมตีเรื่องข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป ซึ่งมีชื่อย่อว่า T-TIP โดยสนับสนุนให้มีการทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีในรายประเทศเท่านั้น
แต่ผู้นำเยอรมนีเป็นผู้สนับสนุนข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคีหรือแบบกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงก่อนหน้าการเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำเยอรมนี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวกล่าวว่า ปธน.ทรัมป์ยังไม่มีท่าทีที่ลงตัวที่จะเดินหน้าทำข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรปหรือไม่ แต่เปิดช่องไว้ว่า ข้อตกลงการค้า T-TIP อาจถูกพิจารณาว่าเป็นของตกลงแบบทวิภาคีได้ เนื่องจากเป็นการรวมตัวของกลุ่มสหภาพยุโรป
ด้านนางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ได้ให้ความสำคัญกับการเยือนสหรัฐในครั้งนี้อย่างมาก และประกาศว่าจะมีผู้บริหารสูงสุดของ 2 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี คือ Siemens และ BMW ร่วมเดินทางไปด้วย
นักวิเคราะห์กล่าวว่า เยอรมนีมีความกังวลจากท่าทีของนายปีเตอร์ นาวาโร่ ผู้เจรจาการค้าคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่เคยระบุว่าเยอรมนีเป็นปัญหาด้านการค้าที่สำคัญที่สุดมากกว่าจีนด้วยซ้ำ
และด้วยสาเหตุนี้ทำให้ผู้นำเยอรมนีพยายามชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจร่วมระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ นั้น เยอรมนีเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในอเมริกา และช่วยจ้างงานมากกว่า 600,000 ตำแหน่งอีกด้วย
นายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐฯ กล่าวว่า การเยือนสหรัฐฯ ของนางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีในครั้งนี้ เป็นการเยือนครั้งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์เลยทีเดียว