ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์ชี้ การเยือนสหรัฐฯ ของเวียดนามเกี่ยวข้องกับข้อตกลงซื้อเครื่องบิน ซี-130


รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ลอนด์ ออสติน พบกับ รมว.ต่างประเทศเวียดนาม ฟาน วัน ซาง ที่เพนตากอน เมื่อ 9 ก.ย. 2567
รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ลอนด์ ออสติน พบกับ รมว.ต่างประเทศเวียดนาม ฟาน วัน ซาง ที่เพนตากอน เมื่อ 9 ก.ย. 2567

การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันโดยรัฐมนตรีกลาโหมของเวียดนามในสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ขณะที่กรุงฮานอยเดินหน้ารักษาสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่าง ๆ ไว้

นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ รายหนึ่ง บอกกับ วีโอเอ เมื่อวันพฤหัสบดีว่า การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันของ ฟาน วัน ซาง รัฐมนตรีกลาโหมเวียดนามนั้นเป็นเหมือนกับการปูทางให้รัฐบาลฮานอยดำเนินแผนงานซื้อเครื่องบินขนส่งทางทหารจากสหรัฐฯ ภายในปีนี้

รมต.ซาง ได้พบกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ที่เพนตากอนเมื่อวันจันทร์ และทั้งสอง “ได้ย้ำความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐฯ-เวียดนาม อีกครั้ง” ตามข้อมูลในแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ให้การต้อนรับ รมว.กลาโหมเวียดนาม ฟาน วัน ซาง ที่เพนตากอน เมื่อ 9 ก.ย. 2567
รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ให้การต้อนรับ รมว.กลาโหมเวียดนาม ฟาน วัน ซาง ที่เพนตากอน เมื่อ 9 ก.ย. 2567

นอกจากนั้น รมต.ออสติน ยังประกาศว่า สหรัฐฯ จะจัดสรรงบ 65 ล้านดอลลาร์เพื่อเบิกจ่ายในช่วง 5 ปีข้างหน้าสำหรับการดำเนินงานขจัดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากสารไดออกซินที่ฐานทัพเบียน ฮัว โดยงบดังกล่าวจะทำให้ตัวเลขเม็ดเงินที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จัดสรรเพื่อการนี้พุ่งขึ้นเป็น 215 ล้านดอลลาร์

ฐานทัพอากาศดังกล่าวเป็นพื้นที่หลักของการจัดเก็บสารเคมีเป็นพิษที่รู้จักกันในชื่อ Agent Orange หรือฝนเหลืองที่ถูกนำมาใช้ในช่วงสงครามเวียดนามและยังคงเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขในพื้นที่รอบ ๆ อยู่ แม้ในปัจจุบัน

แอนดรูวส์ เวลลส์-แดง จากโครงการ Vietnam War Legacies and Reconciliation Initiative ของ United States Institute of Peace บอกกับ วีโอเอ เมื่อวันที่ 5 กันยายนว่า การเยือนสหรัฐฯ ของเจ้าหน้าที่ทางการเวียดนามที่ตามมาหลังการเดินทางมาสหรัฐฯ ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ฝอ มิงห์ เลือง เมื่อเดือนกรกฎาคม จะนำมาซึ่ง “โอกาสสำหรับ(เวียดนาม)ในการได้รับแรงสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นได้”

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว แหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยตัวบอกกับรอยเตอร์ในรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า รัฐบาลกรุงฮานอยกำลังพิจารณาจะสั่งซื้อเครื่องบินขนส่ง ซี-130 ของล็อคฮีด มาร์ติน จากสหรัฐฯ อยู่ด้วย

นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ ที่ไม่ขอเปิดเผยตัวเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ให้ความเห็นกับสื่ออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวว่า ทั้งสองประเทศได้เริ่มหารือข้อตกลงสั่งซื้อเครื่องบิน ซี-130 ไปแล้วแต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปในการเยือนสหรัฐฯ ของรัฐมนตรีกลาโหมซาง ของเวียดนาม โดยอุปสรรคที่ทำให้เรื่องนี้ติดขัดคือ “ระบบราชการอันใหญ่โต(ของสหรัฐฯ)” และเพราะการเดินหน้าสรุปเรื่องนี้อาจทำให้จีนไม่พอใจเวียดนามได้

ส่วน เอียน สตอรีย์ นักวิชาการอาวุโสจาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ชี้ว่า เวียดนามกำลังพยายามดำเนินแผนงานสร้างสมดุลทางการทูตอย่างละเอียดอ่อนอยู่ โดยกล่าวว่า “เวียดนามนั้นมุ่งที่จะรักษาสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่าง ๆ ไว้ให้อยู่ในสมดุลให้ได้” ดังที่เห็นจากการเยือนรัสเซียและจีนของรมต.ซาง เมื่อเดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ตาม สตอรีย์เชื่อว่า การที่เวียดนามสั่งซื้อเครื่องบิน ซี-130 จากสหรัฐฯ จะไม่เป็นประเด็นภัยคุกคามต่อจีน ในกรณีข้อพิพาทด้านอาณาเขตในทะเลจีนใต้ระหว่างสองประเทศ

ขณะเดียวกัน เหงียน เท เฟือง ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลจาก University of New South Wales Canberra กล่าวว่า แผนการสั่งซื้อเครื่องบิน ซี-130 ของเวียดนามจะเป็นเพียง “การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์” และแผนงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อฮานอยไม่น้อย ขณะที่ “เวียดนามจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ” โดยไม่ทำให้จีนเคืองขุ่น เพราะเวียดนามไม่ได้สั่งซื้ออาวุธร้ายแรงใด ๆ

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG