ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แอมะซอน-กูเกิล เร่งลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสนับสนุนศูนย์ข้อมูล-AI


โลโก้ของ "กูเกิล" (ซ้าย) ที่หน้าที่ทำการบริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนีย และโลโก้ของ "แอมะซอน" (ขวา) ที่นอกศูนย์ Amazon OXR1 ในแคลิฟอร์เนีย เช่นกัน
โลโก้ของ "กูเกิล" (ซ้าย) ที่หน้าที่ทำการบริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนีย และโลโก้ของ "แอมะซอน" (ขวา) ที่นอกศูนย์ Amazon OXR1 ในแคลิฟอร์เนีย เช่นกัน

บริษัทแอมะซอน (Amazon) เปิดเผยในวันพุธว่า กำลังทำการลงทุนในการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หลังบริษัทกูเกิล (Google) เพิ่งประกาศแผนงานแบบเดียวกันนี้ไปเมื่อสองวันก่อน โดยสองยักษ์ใหญ่จากวงการเทคโนโลยีตั้งเป้าหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนเพื่อมาช่วยตอบรับความต้องการศูนย์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วในเวลานี้ ตามรายงานของเอพี

การเดินหน้าลงทุนในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ของสองบริษัทนี้มีออกมาไม่นานหลังบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) วางแผนจะจัดซื้อพลังงานจากโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ Three Mile Island ที่เคยถูกปิดไปแต่จะมีการเปิดใช้งานขึ้นใหม่ เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการทำงานศูนย์ข้อมูลของตนเอง

ที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทั้งสามบริษัทเดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อจุดประสงค์เดียวกันนี้มาก่อน และทั้งหมดกล่าวว่า การก้าวเข้าสู่วงการพลังงานนิวเคลียร์นี้มีเป้าหมายทั้งช่วยสนับสนุนธุรกิจของตน ควบคู่ไปกับการมุ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนด้วย

เอพีรายงานว่า ความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกพุ่งสูงจนทำสถิติใหม่ในปีที่แล้ว เมื่ออาคารและพาหนะต่าง ๆ หันมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลให้โครงข่ายพลังงานต่าง ๆ ต้องทำงานหนักขึ้นอย่างมาก โดยความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้มาจากการเดินหน้าพัฒนาศูนย์ข้อมูลและ AI นั่นเอง

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) คาดการณ์ว่า ตัวเลขรวมของการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูลทั้งหลายนั้นน่าจะพุ่งเกินระดับ 1,000 เทราวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2026 หรือเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากสถิติในปี 2022

ตัวเลขประเมินระบุว่า พลังงาน 1 เทราวัตต์ชั่วโมงนั้นสามารถจ่ายไฟให้กับบ้านจำนวน 70,000 หลังเป็นเวลา 1 ปี

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG