ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยเผย 'บลูไลท์' ไม่ใช่ปัจจัยเดียวทำให้นอนไม่หลับหลังจ้องจอนาน


ผลสำรวจโดยมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ (National Sleep Foundation) ชี้ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรอเมริกันจ้องจอโทรศัพท์มือถือของพวกเขาภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเข้านอน ซึ่งนักวิจัยระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลเสียต่อการนอนหลับ

เมลิสสา มิลาแน็ก ผช.ศ.ที่ Medical University of South Carolina ซึ่งเชี่ยวชาญด้านคุณภาพของการนอนหลับ กล่าวว่า สมองของเราต้องการเวลาพักให้เย็นลงก่อนที่จะเข้านอนเพื่อที่จะเข้าสู่ช่วงการหลับลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูร่างกาย

รายงานชิ้นก่อน ๆ ชี้ว่า การนอนหลับไม่เพียงพอนั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับโรคร้ายมากมาย เช่น โรควิตกกังวล หรือน้ำหนักตัวเกิน โดยมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การใช้โทรศัพท์มือถือต่อเนื่องยังอาจส่งผลกระทบต่อระบบนาฬิกาในตัวเราซึ่งควบคุมการนอนและฮอร์โมนต่าง ๆ

ลิซ่า สเตราส์ นักจิตวิทยาการนอนหลับ กล่าวว่า การจ้องหน้าจอนาน ๆ สามารถสร้างปัญหาต่อการนอนหลับได้หลายประการ ตัวอย่างเช่น สมองของเราจะประมวลว่าแสงจากอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่แค่แสงสีน้ำเงิน หรือ บลูไลท์ ที่เรารู้จักกันดีนั้น คือแสงอาทิตย์ ซึ่งนั่นจะไปรบกวนระบบการผลิตสารเมลาโทนินและทำให้กระบวนการหลับลึกล่าช้าออกไป

และไม่ใช่แค่แสงจากหน้าจอเท่านั้น แต่การที่เราใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือนานก่อนนอน ไม่ว่าจะอ่านข่าว เช็คอีเมล เล่นโซเชียลมีเดีย หรือดูวิดีโอ ล้วนสามารถส่งผลให้เกิด “technostress” หรือ ความเครียดจากเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ทั้งสิ้น

และในขณะที่งานวิจัยส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่เยาวชนหรือคนหนุ่มสาว แต่สเตราส์ชี้ว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่จำนวนมากประสบปัญหาการนอนหลับจากการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไปเช่นกัน

คำแนะนำเพื่อลดพฤติกรรมการใช้มือถือ

ผช.ศ. เมลิสสา มิลาแน็ก ระบุว่า การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่แค่การวางโทรศัพท์หนึ่งชม.ก่อนเข้านอน แต่หมายถึงการปรับพฤติกรรมโดยรวม เช่น การเปลี่ยนไปอ่านหนังสือแทน หรือใช้เวลาหนึ่งชม.ก่อนเข้านอนไปกับการอาบน้ำอุ่น ฟังพอดคาสต์ ใช้เวลากับครอบครัว หรือเตรียมอาหารสำหรับวันรุ่งขึ้น เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้แนะนำให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นประจำในห้องอื่นที่ไม่ใช่ห้องนอน เพื่อที่จะเก็บห้องนอนไว้สำหรับนอนจริง ๆ แต่ถ้ามีพื้นที่จำกัด นักจิตวิทยาลิซ่า สเตราส์ แนะนำให้สร้างความแตกต่างเล็ก ๆ ในสิ่งแวดล้อมรอบห้องสำหรับเวลาหลับและเวลาตื่น เช่น อ่านหนังสือที่อีกมุมหนึ่งของเตียง เป็นต้น

และที่สำคัญคือ สเตราส์แนะนำให้วางโทรศัพท์ไว้ที่ห้องอื่นที่ไม่ใช่ห้องนอน หรือวางไว้ให้ไกลจากหัวเตียงมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานั้นยากเกินไปและไม่สามารถทำตามได้ในชีวิตจริง สเตราส์แนะว่า อย่างน้อยให้ทำสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน เช่น การตั้งค่าหน้าจอเป็น 'ไนท์โหมด' ตอนกลางคืนเพื่อลดความสว่างของหน้าจอ รวมทั้งการถือโทรศัพท์ให้ห่างจากสายตามากที่สุดเท่าที่ทำได้ และปรับระดับองศาเพื่อลดความจ้าของแสง

นักจิตวิทยาการนอนหลับผู้นี้กล่าวด้วยว่า ให้ลองถามตัวเราเองซ้ำ ๆ ว่า การเช็คโซเชียลมีเดียก่อนนอนนั้นจำเป็นแค่ไหนเมื่อเทียบกับสุขภาพของเรา เพราะในที่สุดแล้ว ทุกคนควรจะได้รับเวลาแห่งความสงบและปลีกออกจากโลกภายนอกบ้าง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการการพักผ่อนก่อนหลับตาลงในแต่ละวัน

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG