นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยวัย 74 ปี ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในวันอาทิตย์หลังได้รับการพักโทษ รับอิสรภาพเป็นวันแรกหลังจากลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ 15 ปี และเดินทางกลับถึงบ้านจันทร์ส่องหล้าในช่วงเช้าวันอาทิตย์ตามเวลาในประเทศไทย
ข่าวเรื่องนายทักษิณพ้นโทษได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ และมีการสอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนในประเด็นนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การปล่อยตัวนายทักษิณครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงข้อตกลงที่ทักษิณทำไว้กับศัตรูของเขา เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่าต่อฐานอำนาจเก่าของระบอบทหารและผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์ โดยเฉพาะกระแสความนิยมในพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความจริงที่ว่าทักษิณไม่ต้องนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว คือ สิ่งบ่งชี้ว่าอาจมีการทำข้อตกลงบางอย่างในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา
พอล แชมเบอร์ส แห่งศูนย์ศึกษาชุมชนอาเซียน (Center of ASEAN Community Studies) มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า "ทักษิณจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากฐานอำนาจเก่าเพื่อเดินทางกลับไทยโดยไม่ต้องถูกจองจำ" และ "ฐานอำนาจเก่าเองก็ต้องการใช้พรรคเพื่อไทยของทักษิณในการขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล โดยไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหารอีกครั้ง"
โจชัว เคอร์แลนต์ซิก นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) เชื่อว่า "ทักษิณเป็นภัยคุกคามน้อยกว่าพรรคก้าวไกล และเขาได้แสดงให้เห็นในตอนนี้ด้วยการทำข้อตกลงที่เกือบจะแน่นอนแล้ว ... รวมถึงทำสิ่งที่ฐานอำนาจเก่าต้องการ"
ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ฐานอำนาจเดิมที่มีการปรับโครงสร้างใหม่สามารถทำงานกับอดีตศัตรูได้อย่างบรรลุผล เพื่อป้องกันการเติบโตของอีกฝ่ายหนึ่ง และว่า "เวลานี้ทักษิณได้กลายเป็นเบี้ยในกระดานมากกว่าจะเป็นผู้บงการเกมไปแล้ว"
ศ.ฐิตินันท์ ยังได้กล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีรา ถึงอิทธิพลทางการเมืองของทักษิณที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังจากผ่านช่วงเวลาที่ขึ้น-ลงมาตลอดสองทศวรรษ ในขณะที่พรรคการเมืองของเขาก็มิได้ครอบครองฐานเสียงส่วนใหญ่ได้อีก หลังจากที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกต่อพรรคก้าวไกลเมื่อเดือนพฤษภาคม
"การลดโทษของทักษิณลงจากแปดปีเหลือเพียงปีเดียว จากนั้นเหลือเป็นการพักโทษหกเดือนโดยที่ไม่ต้องถูกจำคุกแม้แต่คืนเดียว จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรม การที่เขาได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษเหนือคนอื่นแต่เพียงผู้เดียวยิ่งไม่ได้ช่วยให้ความนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด" ศ.ฐิตินันท์ระบุ
สำนักข่าวอัลจาซีรา สอบถามความเห็นนักวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยหลายคนเชื่อว่า ทักษิณจะยังคงมีบทบาททางการเมืองต่อไป หรืออาจเป็นผู้สั่งการอยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่อาจจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
รศ. มาร์ค เอส โคแกน แห่งภาควิชาสันติภาพและความขัดแย้งศึกษา มหาวิทยาลัยคันไซ ไกได ประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับอัลจาซีราว่า การปล่อยตัวทักษิณกลับบ้านนั้นเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ว่า ผู้กระทำความผิดทางอาญา แต่ว่ามีฐานะร่ำรวยและมีเส้นสายที่ดีกับชนชั้นนำ อย่างเช่น ทักษิณ สามารถกลับสู่อำนาจและความมั่งคั่งได้อีกครั้ง
รศ.โคแกน เชื่อว่า ในที่สุดแล้วทักษิณน่าจะกลับมาเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอีก "ขณะนี้เขาได้รับอิสระ และเขาจะกลับเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจการต่างๆ ของประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกิดคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาลเศรษฐา เนื่องจากทักษิณคือ ผู้ที่ควบคุมพรรคเพื่อไทย"
นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวและนักวิเคราะห์การเมือง กล่าวกับอัลจาซีราว่า การปล่อยตัวทักษิณนำมาซึ่งคำถามมากกว่าคำตอบ
"คำถามคือ ทักษิณจะมีบทบาทใดต่อไป หากสุขภาพของเขาอำนวย? เขาจะเป็นผู้ลงมือขับขี่เองและกำหนดทิศทางนโยบายของพรรคเพื่อไทยอย่างเปิดเผยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เศรษฐา ทวีสิน ดูเหมือนหุ่นเชิดหรือไม่?" ประวิตรกล่าวต่อไปว่า "หรือเขาจะทำงานเงียบ ๆ อยู่เบื้องหลัง เหมือนเป็นผู้กำหนดตัวผู้นำ และเป็นที่ปรึกษาสูงสุดของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย?"
ประวิตรยังกล่าวกับรอยเตอร์ด้วยว่า ทักษิณควรให้นายกฯ เศรษฐา พิสูจน์ตัวเองว่า เขาเป็นหุ่นเชิด หรือเป็นนายกฯ ตัวจริง
ขณะเดียวกัน เควิน เฮวิสัน ศาสตราจารย์กิตติคุณที่มหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนา (University of North Carolina) กล่าวกับเอพีว่า "ในด้านหนึ่ง การที่ทักษิณกลับบ้านหาครอบครัว คือ ตอนจบของการผจญภัยทางการเมืองของเขาที่เริ่มขึ้นด้วยรัฐประหารเมื่อปี 2006 ซึ่งทำให้นายกฯ ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดต้องพ้นจากตำแหน่ง"
ศ.เฮวิสัน ชี้ด้วยว่า ข้อตกลงที่นำทักษิณกลับบ้านและทำให้พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่มีทหารหนุนหลังนั้น "แสดงให้เห็นว่าการเมืองแบบก้าวหน้าที่นำโดยคนรุ่นใหม่ของไทย และความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งนั้น ได้ทิ้งทักษิณและพรรคเพื่อไทยไว้ข้างหลังไปแล้ว"
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี รอยเตอร์ และอัล-จาซีรา
กระดานความเห็น