สื่อทั่วโลกจับตาการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยอย่างใกล้ชิดจนได้บทสรุปว่า รัฐสภาของไทยสามารถสกัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ ไม่ให้ไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จอย่างที่มีการคาดไว้
สำนักข่าวต่างประเทศ อาทิ เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี ด็อยท์เชอเว็ลเลอ (DW) บีบีซี และเดอะ วอชิงตันโพสต์ ต่างสรุปรายงานพร้อมการวิเคราะห์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไทยกันอย่างละเอียด หลังที่ประชุมสภามีมติเสียงส่วนใหญ่ปัดตกการเสนอชื่อนายพิธาในรอบที่ 2 ในวันพุธ
เอพี
สำนักข่าวเอพีสรุปความในรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยประเมินไว้ก่อนหน้าแล้วว่า ความพ่ายแพ้ของนายพิธานั้นถูกลิขิตไว้โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างโดยรัฐบาลทหารและถูกออกแบบมาเพื่อบั่นทอนแรงท้าทายต่อกลุ่มผู้นิยมและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การเปิดทางให้สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาทในการรับรองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
เจคอบ ริคส์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Singapore Management University บอกกับเอพีว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และสิ่งที่เราเพิ่งได้เห็นกันไปคือ การดำเนินการ[ตามอำนาจ]รัฐธรรมนูญ ... ชะตาของพิธา หรือกระทั่งของกลุ่มเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้า ถูกปิดผนึกไว้มานานก่อนจะเกิดการเลือกตั้งเสียอีก”
เอพีระบุด้วยว่า เป้าหมายอันเฉพาะเจาะจงของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นคือ บรรดาจักรกลทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกยึดอำนาจโดยการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขณะที่ กฎต่าง ๆ นั้นก็ยังสามารถนำไปใช้จัดการกับสิ่งที่เป็นภัยคุกคามของกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ด้วย
นอกจากเรื่องของมติที่ประชุมสภาแล้ว เอพียังได้อ้างถึงความเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากกรณีคดีที่เกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นบริษัทไอทีวีด้วย
เพตรา อัลเดอร์แมน นักวิจัยเยี่ยมเยือนจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) ของอังกฤษและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองแบบเผด็จการภายใต้กองทัพ กล่าวว่า “ประเด็นหลักก็คือ สถาบันหัวอนุรักษ์นิยมของไทยนั้นไม่สามารถชนะให้ได้มาซึ่งอำนาจจากการมีชัยในการเลือกตั้งได้” และว่า การก่อรัฐประหารและยึดอำนาจปกครองเมื่อปี 2557 “สร้างระบบการเมืองอันไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมากที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฝ่าย ‘ที่ผิด’ – ในสายตาของสถาบันหัวอนุรักษ์นิยม – ไม่ให้มีอำนาจ”
อัลเดอร์แมน ระบุในการให้สัมภาษณ์ผ่านอีเมลว่า “เพื่อให้ครอบคลุมทุกจุด คุณก็ให้อำนาจองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่าง ๆ ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถืออย่างมากและไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน – กล่าวคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ – มาช่วยทำให้[สถาบันหัวอนุรักษ์นิยม] สามารถตัดสิทธิ์และ/หรือสั่งห้ามนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ และสั่งยุบพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมทั้งหลาย”
รอยเตอร์
สำนักข่าวรอยเตอร์ขึ้นหัวข่าวว่า “ความวุ่นวายในไทย ขณะที่กลุ่มคู่แข่งตีสกัดการเสนอชื่อนายกของ[พรรค]ผู้ชนะเลือกตั้ง” โดยระบุว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาพร้อมเส้นทางอันยากลำบากสุด ๆ เพื่อที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐบาล ทั้งยังต้องหาทางก้าวข้ามแรงต้านอันดุเดือดจากกองทัพที่เป็นฝ่ายนิยมและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีจุดยืนขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อต้านสถาบันต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกล
สื่อแห่งนี้ระบุเช่นกันว่า รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันที่มีเนื้อหาที่เข้าทางของฝ่ายกองทัพคือสิ่งที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภาที่รัฐบาลทหารเป็นผู้แต่งตั้งและทำหน้าที่เหมือนป้อมปราการต้านนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง สามารถจัดการกับความพยายามของฝ่ายตรงข้ามที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังที่สามารถสกัดการเสนอชื่อนายพิธาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จ
รอยเตอร์รายงานว่า สถานการณ์ภายในสภาไทยที่เหมือนกับละครเรื่องหนึ่งนั้นเป็นเพียงการหักมุมอีกครั้งในการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาและสถาบันกองทัพหัวอนุรักษ์นิยมในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีกรณีการสั่งยุบพรรคการเมือง การแทรกแซงโดยศาล การก่อรัฐประหารถึง 2 ครั้ง และการเดินประท้วงตามท้องถนนที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง
และภายหลังที่ประชุมสภามีมติปัดตกการเสนอชื่อนายพิธา รอยเตอร์ก็ได้ออกไปพูดคุยกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่มีจำนวนหลายร้อยคนและปักหลักชุมนุมต่อต้านความพยายามสกัดกั้นหัวหน้าพรรคแนวก้าวหน้านี้ไม่ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ และหลายคนแสดงความผิดหวังต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น วิลาสิณี สระแก้ว วัย 21 ปี ที่บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอรู้สึกโกรธที่สมาชิกสภาไม่เคารพประชาชน และไม่ยอมฟังเสียงของประชาชนจำนวน 14 ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเลย
นอกจากนั้น รอยเตอร์ยังรายงานว่า นายพิธาทวีตข้อความออกมาระหว่างที่ประชุมสภาอภิปรายญัตติว่าด้วยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ รอบที่ 2 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีใจความว่า “เรายังต้องอยู่กันแบบนี้ในวันนี้ ก็เพราะภายในรัฐธรรมนูญนี้ เสียงของประชาชนมันไม่เพียงพอ ผมต้องมาขอความเห็นชอบจากท่าน เพื่อจะได้เข้าไปบริหารประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน”
ด็อยท์เชอเว็ลเลอ (DW)
ด็อยท์เชอเว็ลเลอ (Deutsche Welle - DW) สื่อสัญชาติเยอรมันก็เป็นอีกแห่งที่รายงานสถานการณ์การเมืองล่าสุดของไทย โดยขึ้นหัวข้อข่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “รัฐสภาไทยปัดตกการเสนอชื่อขึ้นเป็นนายกฯ ของพิธา” และมีการจับประเด็นสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดวันซึ่งรวมถึงการประชุมสภาก่อนจะมีการลงมติและการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำฟ้องหัวหน้าพรรคก้าวไกลในประเด็นการถือหุ้นบริษัทไอทีวีและการมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ด้วย
ฟิลิป เชอร์เวลล์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคเอเชียจากหนังสือพิมพ์ Sunday Times ของอังกฤษ ประจำประเทศไทย บอกกับสื่อ DW ว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธนั้นเป็น “ความปราชัยครั้งใหญ่” สำหรับแผนงานทางการเมืองของนายพิธา
เชอร์เวลล์ ยังบอกด้วยว่า วุฒิสภาไทยนั้นไม่น่าจะกลับมาหนุนการเสนอชื่อของนายพิธา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาดังกล่าวออกมาด้วย
บีบีซี
นอกเหนือจากการสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาและศาลรัฐธรรมนูญแล้ว บีบีซี ยังได้พูดคุยกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่รวมตัวกันอยู่ภายนอกรัฐสภา ซึ่งตั้งคำถามว่า จะมีการเลือกตั้งทำไม เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
บีบีซี ที่อ้างรายงานของสำนักข่าว เอเอฟพี ยกตัวอย่างความเห็นและคำถามของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีตั้งแต่ “จะให้ประชาชนไปคูหาเลือกตั้งทำไม ทำไมไม่เลือกคนในครอบครัวของคุณขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเลย” ไปจนถึง “พิธาไม่ได้ทำผิดเลย เขาทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว”
สื่อแห่งนี้ยังรายงานคำพูดของนายพิธาที่กล่าวต่อสมาชิกสภาหลังที่ประชุมมีมติปัดตกการเสนอชื่อด้วยว่า “ประเทศไทยเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ... และถ้าเกิดประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนกันต่อไป ขอบคุณมากครับ”
นอกจากนั้น บีบีซี ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำฟ้องสองคดีของนายพิธาทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยในช่วงไม่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ การมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งไทย และการพิพากษาให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลุดจากตำแหน่ง รวมทั้งการสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ เช่น พรรคพลังประชาชน ที่มีผลให้อดีตนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในสมัยนั้นต้องยุติการทำงานไปด้วย
ถึงกระนั้น บีบีซี ชี้ว่า ทิศทางการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในปีนี้กลับดูเป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยที่จะมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่และมีแคนดิเดตจากพรรคก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วย
เดอะ วอชิงตันโพสต์
หนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ เลือกที่จะจับประเด็นมาตรา 112 ที่ชี้ว่า เป็นต้นตอของวิกฤตการเมืองไทย และเป็นหนึ่งในแผนงานของพรรคก้าวไกลภายใต้การนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จะทำการแก้ไข แต่เป็นสิ่งที่ฝ่ายกองทัพที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริ์ยไม่ต้องการให้มีการแตะต้อง
สื่อแห่งนี้ระบุว่า ประเด็นดังกล่าวคือ เหตุผลให้สมาชิกสภาหัวอนุรักษ์นิยมสกัดการเสนอชื่อนายพิธา ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้วในการลงมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม และยังเป็นเหตุผลที่อาจทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและอาจทำให้พรรคหัวก้าวหน้านี้ถูกตัดสินยุบได้
ข้อมูลที่เดอะ วอชิงตัน โพสต์ อ้างจากศูนย์ข้อมูลกฎหมาย iLaw รวบรวมมาได้แสดงให้เห็นว่า หลังการก่อรัฐประหารในปี 2549 ที่กองทัพยึดอำนาจการบริหารประเทศจากอดีตนายกฯ ทักษิณ มีผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้อำนาจของมาตรา 112 แล้ว อย่างน้อย 36 คนขณะที่ ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 98 คน หลังการก่อรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ที่เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยการวิเคราะห์ของสื่อแห่งนี้ชี้ว่า รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งทำการปราบปรามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หนักขึ้นเคยเป็นมา
และแม้การปราบปรามจะดูชะลอลง หลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 2562 สถานการณ์กลับรุนแรงขึ้นอีกครั้งในปีถัดมา ที่มีการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันเบื้องสูงของไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เดอะ วอชิงตัน โพสต์ อ้างข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 อย่างน้อย 253 คน ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ปี 2563 และเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดย 20 คนนั้นเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ที่มา: เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี ด็อยท์เชอเว็ลเลอ (DW) บีบีซี และเดอะ วอชิงตันโพสต์