สหรัฐฯ และชาติตะวันตก ประกาศมาตรการลงโทษต่อรัสเซียเพิ่มเติมในวันจันทร์ ซึ่งรวมถึงการห้ามส่งออกวัตถุดิบและบริการให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของรัสเซีย การคว่ำบาตรบริษัทและองค์กรวิจัยด้านการทหารของรัฐบาลกรุงมอสโก และการห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย
ทำเนียบขาวประกาศด้วยว่า จะมอบเงินทุนระยะสั้นมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G-7 ในการช่วยเหลือยูเครน
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดราคาน้ำมันขั้นสูงสุดเพื่อลดแหล่งรายได้ของประธานาธิบดีปูติน พร้อมไปกับการทำให้ราคาน้ำมันโลกลดต่ำลงด้วย
คำประกาศนี้มีขึ้นในขณะที่บรรดาผู้นำประเทศกลุ่ม G-7 ร่วมประชุมกันที่เยอรมนีในวันจันทร์ และมีการหารือทางไกลผ่านวิดีโอออนไลน์กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนด้วย โดยผู้นำยูเครนได้ร้องขออาวุธเพิ่มเติม รวมทั้งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ เพื่อต้านทานการโจมตีของกองทัพรัสเซีย
แถลงการณ์ของที่ประชุม G-7 ในวันจันทร์ ส่งสัญญาณว่า ประเทศสมาชิกพร้อมที่จะยืนหยัดสนับสนุนยูเครนในระยะยาว โดยระบุว่า "เราจะยังคงจัดหาความช่วยเหลือทางการเงิน มนุษยธรรม การทหารและการทูต รวมทั้งยืนเคียงข้างยูเครนตราบนานเท่านาน"
บรรดาผู้นำ G-7 ระบุด้วยว่า จนถึงขณะนี้ได้มีการจัดหาความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้แก่ยูเครนเป็นมูลค่ารวมกัน 29,500 ล้านดอลลาร์แล้ว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวระหว่างการหารือนอกรอบของการประชุม G-7 ในครั้งนี้ว่า มาตรการลงโทษชุดใหม่นี้มุ่งเป้าไปที่รายได้ของประธานาธิบดีปูตินโดยตรง โดยเฉพาะในภาคพลังงาน ควบคู่ไปกับการจำกัดผลกระทบที่มีต่อเศษฐกิจของประเทศในกลุ่ม G-7 และทั่วโลกด้วย
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวด้วยว่า กลุ่ม G-7 จะร่วมมือกับหลายประเทศ รวมทั้งอินเดีย เพื่อให้ลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลง โดยอินเดียคือหนึ่งในห้าประเทศที่เข้าร่วมการประชุม G-7 ในวันที่สองในฐานะแขกพิเศษ เพื่อหารือด้านพลังงานสะอาด ปัญหาอาหารโลกขาดแคลน และปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ วิกฤติในยูเครนได้เบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาผู้นำโลกจากวิกฤติด้านอื่น ๆ รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเดิมทีถูกวางไว้เป็นประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้ ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมว่า ชาติตะวันตกอาจกำลังลดความพยายามต่อสู้ภาวะโลกร้อนเพื่อหาหนทางลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซีย ด้วยการหันไปหาแหล่งพลังงานแบบเดิม เช่น ถ่านหิน แทน
โดยสำนักขาวรอยเตอร์ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ คาดว่าญี่ปุ่นจะพยายามกดดันให้กลุ่ม G-7 ชะลอหรือยกเลิกเป้าหมายว่าด้วยเรื่องการผลักดันให้ใช้ยานพาหนะที่ไม่ปล่อยมลพิษในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเหล่านี้ด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม ไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะคว่ำบาตรการประชุมสุดยอดกลุ่ม G-20 ที่จะจัดขึ้นที่อินโดนีเซียในช่วงปลายปีนี้ หากประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจเดินทางไปร่วมการประชุมดังกล่าว
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพีและรอยเตอร์