ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลวิจัยชี้ 'ชาติอาเซียน' นิยมอเมริกามากขึ้นในยุคไบเดน


U.S. President Joe Biden greets other leaders during the 2022 ASEAN summit in Phnom Penh, Cambodia, November 12, 2022.
U.S. President Joe Biden greets other leaders during the 2022 ASEAN summit in Phnom Penh, Cambodia, November 12, 2022.

ผลสำรวจชิ้นใหม่ที่จัดทำโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ที่เปิดเผยในวันพฤหัสบดี แสดงให้เห็นว่า ประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากขึ้นเลือกสหรัฐฯ มากกว่าจีนหากจำเป็นต้องเลือกยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ณ ขณะนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจเริ่มแสดงประสิทธิผลแล้ว

ผลสำรวจที่ใช้กลุ่มตัวอย่างในแถบอาเซียน 1,308 คน ชี้ว่า ความนิยมที่มีต่อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระดับ 57.0% จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว เป็น 61.1% ในการสำรวจปีนี้ ขณะที่ความนิยมที่มีต่อจีนลดลงมาอยู่ที่ 38.9%

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า หากต้องเลือกว่าจะยืนข้างใครระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มี 3 ประเทศในอาเซียนที่เลือกยืนข้างจีนมากกว่า ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนอีก 7 ประเทศเลือกยืนข้างอเมริกามากกว่า รวมทั้งประเทศไทย โดยตัวเลขของไทยอยู่ที่ 56.9% สำหรับผู้ที่เลือกสหรัฐฯ และ 43.1% สำหรับผู้ที่เลือกจีน

ชารอน ซีอาห์ นักวิชาการอาวุโสแห่งศูนย์ Asean Studies Centre ของ ISEAS-Yusof Ishak กล่าวว่า "สถานะของรัฐบาลไบเดนในอาเซียนดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วมาก" โดย 77% ของกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจเมื่อปี 2020 ระบุว่า ระดับการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ลดลงอย่างมากภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเทียบกับตัวเลขเกือบ 40% ที่บอกว่าสหรัฐฯ มีส่วนร่วมในอาเซียนลดลงภายใต้รัฐบาลไบเดน

ISEAS: A majority of ASEAN respondents choose to side with the US over China
ISEAS: A majority of ASEAN respondents choose to side with the US over China

สหรัฐฯ เพิ่มกิจกรรมด้านความมั่นคงในแถบอาเซียนมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่หลายประเทศแสดงความกังวลต่อการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในน่านน้ำรอบ ๆ ไต้หวันและทะเลจีนใต้

แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างในอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า จีนคือประเทศที่มีอิทธิพลและอำนาจเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงจากระดับ 54.4% เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่ 41.5% ในปีนี้ และมีถึงเกือบ 50% ของผู้ที่มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนจะยกระดับขึ้นในอนาคต ที่เชื่อว่าอิทธิพลของจีนอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้

ซีอาห์ แห่งศูนย์ Asean Studies Centre กล่าวว่า ความกังวลต่อการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนในแถบอาเซียนนั้นมีอยู่มานานแล้ว แต่การที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เลิกใช้ยุทธวิธีซ่อนความแข็งแกร่งและรอเวลา จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่อาเซียนจะรับมือการตอบโต้หรือการโต้กลับของจีน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็มีประเด็นความเชื่อมั่นเช่นกัน เพราะในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของประเทศในอาเซียนในด้านการรักษากฎระเบียบระหว่างประเทศ แต่ตัวเลขนี้ก็ลดลงจากระดับ 36.6% เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่ 27.1% ในปีนี้

ขณะเดียวกัน เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ยังคงมีมุมมองด้านบวกต่อกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อความรุ่งเรืองของอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ขณะที่มากกว่า 40% ยังคงไม่แน่ใจ โดยสหรัฐฯ เปิดตัวกรอบความร่วมมือดังกล่าวต่อประเทศสมาชิกรวม 13 ประเทศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ในส่วนของความกังวลด้านต่าง ๆ กลุ่มตัวอย่าง 82.6% บอกว่า กังวลต่อความไร้ประสิทธิภาพและความเชื่องช้าของอาเซียน ซึ่งทำให้ไม่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลกได้ ขณะที่ 73% กังวลว่าอาเซียนจะกลายเป็นสนามประลองของชาติมหาอำนาจ และชาติในอาเซียนอาจกลายเป็นตัวแทนของมหาอำนาจเหล่านั้น ส่วน 60.7% กังวลต่อความเป็นเอกภาพของอาเซียน และ 37.2% กลัวว่าอาเซียนจะไม่สามารถฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้

XS
SM
MD
LG