สถาปนิกชาวจีนผู้หนึ่งได้พยายามที่จะให้จีนและประเทศอื่น ๆ สร้าง “เมืองฟองน้ำ” ซึ่งเป็นเมืองที่มีพืชและต้นไม้จำนวนมากเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วม โดยมีเป้าหมายในการลดผลกระทบที่เลวร้ายจากสภาพอากาศที่รุนแรงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
หยู คงเจี้ยน (Yu Kongjian) ได้อธิบายกับสำนักข่าวเอพีถึงวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับเมืองที่ไม่ได้รับอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ รวมทั้งการที่ฝนตกหนักหรือฝนตกน้อยเกินไป
หยู ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงเมือง อาคาร และถนนหนทางที่ทันสมัยส่วนใหญ่ในเอเชียว่า ถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดที่มาจากยุโรป เขาชี้ว่าการออกแบบดังกล่าวไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก เช่นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย นอกจากนี้ เขายังได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่หลายเมืองในเอเชียว่า เป็นหลักฐานของความคิดเห็นนี้อีกด้วย
หยูกล่าวถึงวัสดุที่มีความแข็ง เช่น หินและเหล็กที่ใช้สร้างเมืองใหญ่ ๆ โดยเมืองเหล่านี้ใช้ท่อและร่องน้ำในการควบคุมการเคลื่อนที่ของน้ำ และว่า “สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ไร้ประโยชน์ และจะนำมาซึ่งความล้มเหลว” ดังนั้นหยูจึงสนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการสร้างเมืองที่สามารถจัดการกับปัญหาเรื่องน้ำได้
แนวคิดของหยูเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์และวิศวกรรมโยธาทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ทำงานกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการสร้างพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำในใจกลางเมือง เช่น สวนสาธารณะและบ่อน้ำ ที่สามารถกักเก็บน้ำฝน ซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้
นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างเหล่านี้ยังช่วยให้น้ำไหลผ่านดินได้อย่างช้า ๆ และช่วยเติมเต็มแหล่งน้ำใต้ดินในช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยเกินไปได้อีกด้วย
หยู กล่าวด้วยว่า “แนวคิดของเมืองฟองน้ำก็คือการฟื้นฟู และเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้แก่น้ำ”
เขากล่าวต่อไปอีกว่า จุดเปลี่ยนในการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงเมืองของประเทศจีนนั้นเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จากเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเมืองหลวงของปักกิ่งในเดือนกรกฎาคมปีค.ศ. 2012
ปริมาณน้ำจากเหตุการณ์ฝนตกครั้งใหญ่ที่สุดในปักกิ่งในรอบ 61 ปีครั้งนั้นมากเกินไปสำหรับระบบระบายน้ำ ทำให้น้ำเอ่อเต็มใจกลางเมืองและท่วมขอบเมือง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน
ในเวลานั้น หยูได้ส่งจดหมายถึง เกา จิ้นหลง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาปักกิ่ง โดยเขาได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีที่รัฐบาลจัดการกับถนนหนทางและอาคารต่าง ๆ ในเมืองหลวง และเขายังคงส่งจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนอีกด้วย
ในการประชุมของรัฐบาลในปีต่อมา จีนได้รวมแนวคิดเรื่องเมืองฟองน้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระดับชาติ
ในปี 2014 รัฐบาลกลางออกคำสั่งให้นำน้ำฝนที่ไหลบ่า 70% กลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่เมือง 20% ภายในปี 2020 และอีก 80% ของพื้นที่ดังกล่าวภายในปี 2030
ในปีต่อมา รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการเมืองฟองน้ำ 16 โครงการสำหรับการทดลอง โดยเพิ่มอีก 14 โครงการในปี 2016
ทั้งนี้การสนับสนุนทางด้านการเงินของผู้นำและรัฐบาลนำไปสู่การเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานในการดูดซับน้ำ ซึ่งรวมถึงในเมืองใหญ่ ๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น
อย่างไรก็ตาม แนวคิดในเรื่องเมืองฟองน้ำนั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะนำไปใช้ในบางพื้นที่ของจีนได้ เนื่องจากการใช้งบประมาณในทางที่ผิด การขาดความชำนาญในการวางผังเมืองฟองน้ำ และปัญหาอื่น ๆ ทำให้บางโครงการต้องล้มเหลวไป
- ที่มา: เอพี