นักวิทยาศาสตร์และนักมานุษยวิทยาค้นพบว่า การปรุงอาหารและการเข้าร่วมงานเลี้ยงต่าง ๆ นั้น มีประวัติศาสตร์ภูมิหลังมายาวนานก่อนวิวัฒนาการและการถือกำเนิดของอารยธรรมของมนุษย์ก็ว่าได้
การทำอาหารสำหรับเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าหรือเพียงแค่ไปร่วมงานเลี้ยง ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ ซึ่งเก่าแก่กว่าเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เรา
นักวิทยาศาสตร์บางคนประเมินว่าบรรพบุรุษที่มีความใกล้ชิดกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ในยุคแรก ๆ อาจใช้ไฟในการหุงต้มอาหารเมื่อเกือบ 2 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นเวลายาวนานก่อนที่โฮโม เซเปียนส์จะปรากฏขึ้น
และจากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบสิ่งที่อาจเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการปรุงอาหารขั้นพื้นฐานนี้ ซึ่งก็คือเศษปลาคาร์พย่างที่หลงเหลือมาจากเมื่อ 780,000 ปีที่แล้ว
การทำอาหารคือตัวกระตุ้นวิวัฒนาการมนุษย์
การทำอาหารนั้นเป็นมากกว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของบรรพบุรุษของเรา เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นวิวัฒนาการของมนุษย์ ทำให้มีสติปัญญาที่ดีขึ้น และต่อมาการทำอาหารก็กลายเป็นหัวใจสำคัญของพิธีกรรมงานเลี้ยงต่าง ๆ ที่นำผู้คนในชุมชนมารวมตัวกัน
แมตต์ สปอนไฮเมอร์ (Matt Sponheimer) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย University of Colorado ที่เมืองโบลเดอร์ ผู้ศึกษาเรื่องอาหารของบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคแรก ๆ กล่าวว่า “เรื่องราวของวิวัฒนาการของมนุษย์สะท้อนจากเรื่องราวของอาหารที่กิน”
การศึกษาครั้งใหม่ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Ecology and Evolution ได้ใช้ข้อมูลจากการขุดค้นที่ Gesher Benot Ya'aqov ซึ่งเป็นแหล่งน้ำบนชายฝั่งของทะเลสาบโบราณในอิสราเอล
ไอริท โซฮาร์ (Irit Zohar) หัวหน้าการเขียนรายงานนี้จากมหาวิทยาลัย Tel Aviv University อธิบายว่าสิ่งประดิษฐ์จากบริเวณที่ขุดพบนั้นบ่งชี้ว่าที่นั่นเคยเป็นบ้านของชุมชนโฮโม อีเรคตัส ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของมนุษย์ที่เดินตัวตรงยุคแรกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
นามา โกเรน-อินบาร์ (Naama Goren-Inbar) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Hebrew University ที่เมืองเยรูซาเล็มซึ่งเป็นผู้นำการขุดค้นครั้งนี้กล่าวว่า จากการขุดค้นหาที่ไซต์นี้มาเป็นเวลานานหลายปี นักวิจัยได้ศึกษาซากปลาแปลกๆ ที่ขุดพบโดยเฉพาะตรงส่วนฟัน
โซฮาร์ อธิบายว่าปลาที่พบหลาย ๆ ตัวเป็นปลาคาร์พขนาดใหญ่ 2-3 สายพันธุ์ รวมตัวกันอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของไซต์ที่ขุดค้น ซึ่งเป็นจุดที่นักวิจัยพบร่องรอยของไฟอีกด้วย การตรวจสอบพบว่าฟันปลาได้มีการสัมผัสกับอุณหภูมิที่ร้อน แต่ไม่ร้อนจัด ซึ่งบ่งชี้ว่าปลาถูกปรุงสุกด้วยไฟอ่อน ๆ แบบช้า ๆ แทนที่จะโยนลงไปบนกองไฟโดยตรง
จากหลักฐานทั้งหมดนี้ ผู้เขียนสรุปว่าบรรพบุรุษที่ใกล้ชิดกับเผ่าพันธุ์มนุษย์เหล่านี้ได้ใช้ไฟในการหุงต้มอาหารเมื่อกว่า750,000 ปีก่อน ซึ่งเร็วกว่าหลักฐานการทำอาหารชิ้นถัดไปที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งแสดงถึงการที่มนุษย์ยุคหินกินรากไม้เผาในแอฟริกาใต้
นักวิจัยเชื่อว่าการทำอาหารนั้นเริ่มต้นมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แม้ว่าหลักฐานทางกายภาพจะพิสูจน์ได้ยากก็ตาม
เดวิด เบราน์ (David Braun) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย George Washington University ซึ่งไม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาอธิบายนี้อธิบายว่า การปรุงอาหารสุกช่วยให้ร่างกายย่อยและรับสารอาหารได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเมื่อมนุษย์ในยุคแรก ๆ คิดหาวิธีหุงต้มอาหารได้ พวกเขาก็สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้มากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ในการพัฒนาสมองได้
จากพัฒนาการของสมองและร่างกายของมนุษย์โบราณนั้น นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าทักษะการทำอาหารจะต้องเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 2 ล้านปีที่แล้ว เพราะหากคนเหล่านั้นกินอาหารที่ดิบ ๆ ก็จะเป็นการยากที่จะมีลำตัวขนาดใหญ่
อาหารที่ปรุงสุกในยุคก่อนนั้นห่างไกลจากอาหารมื้อค่ำที่ทำจากไก่งวงในปัจจุบัน และในช่วงหลายปีต่อ ๆ มา การกินอาหารของมนุษย์ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้พลังงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการกินเพื่อสังคมอีกด้วย
งานเลี้ยงฉลองรวมตัวแรกของมวลมนุษยชาติ
ในการศึกษาในปี 2010 นักวิจัยได้อธิบายถึงหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการจัดงานเลี้ยง โดยใช้อาหารที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษซึ่งเป็นการนำผู้คนมาพบปะสังสรรค์กันในโอกาสพิเศษ เมื่อ 12,000 ปีก่อนในถ้ำแห่งหนึ่งในอิสราเอล
นาตาลี มันโร (Natalie Munro) นักมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Connecticut ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษากล่าวว่า ถ้ำแห่งนั้นเป็นสถานที่ฝังศพ ซึ่งรวมถึงซากศพของผู้หญิงที่มีความพิเศษคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นคนทรงเจ้าในชุมชนของเธอเอง และดูเหมือนว่าคนของเธอจะจัดงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่การตายของเธอ มันโรและทีมงานของเธอได้พบซากสัตว์จำนวนมากในบริเวณนี้ ซึ่งรวมทั้งเต่าและวัวป่าจำนวนมากพอที่จะแจกจ่ายอีกด้วย
เธอกล่าวอีกว่า “งานฉลองครั้งแรก” นี้มาจากจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ในช่วงเวลาที่กลุ่มนักล่าสัตว์เริ่มที่จะลงหลักปักฐานอยู่อาศัยในที่พักถาวรมากขึ้น การรวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารมื้อพิเศษร่วมกัน อาจเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างสังคมแบบชุมชนและช่วยคลายความตึงเครียดในการใช้ชีวิตร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่งานเลี้ยงทั่ว ๆ ไปอาจจะไม่มีการกินเนื้อเต่าในถ้ำที่ฝังศพอีกต่อไป มันโรกล่าวว่า เธอยังคงเห็นพฤติกรรมทางสังคมแบบเดิม ๆ มากมายคล้ายกับในอดีต เช่น การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล การสร้างเสริมเครือข่ายความสัมพันธ์ การแก่งแย่งชิงสถานะทางสังคม ซึ่งเกิดขึ้นในการรวมตัวของผู้คนในปัจจุบัน หรือจะเรียกว่าเป็นแก่นแท้ของมนุษย์นั่นเอง
- ที่มา: เอพี