ลิ้งค์เชื่อมต่อ

“เทคโนโลยีต่อต้านโดรน” หน่วยคุ้มกันน่านฟ้ารูปแบบใหม่


Philippines US Military Drone - ScanEagle
Philippines US Military Drone - ScanEagle

ความนิยมในการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากเทคโนโลยีนี้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ พัฒนาและนำเทคโนโลยีต่อต้านโดรนมาช่วยแก้ปัญหานี้บ้างแล้ว

การใช้งานโดรนสำหรับทางการทหารและบุคคลทั่วไปได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความกังวลด้านความปลอดภัยก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่น สนามบิน เรือนจำ และโครงข่ายไฟฟ้า บริษัทเทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ จึงได้พัฒนาความสามารถในการระบุและจัดการภัยคุกคาม เพื่อรับมือจากโดรนที่เป็นอันตราย

หนึ่งในตัวอย่างภัยคุกคามจากโดรน เกิดขึ้นในปี 2013 ขณะที่ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้น กำลังร่วมงานที่จัดกลางแจ้ง ปรากฏว่ามีโดรนที่บินอยู่เหนือศีรษะ ตกดิ่งลงในระยะใกล้กับตัวของเธอ จนทำให้งานที่ดำเนินอยู่ต้องหยุดชะงัก

แมร์รี่ ลู สโมลเดอร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดจากบริษัท Dedrone อธิบายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “มันไม่มีอะไรมากนัก เป็นเพียงโดรนที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ”

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ข้างต้น ได้ก่อให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย เมื่อโดรนที่เป็นอากาศยานไร้คนขับ ปรากฏตัวขึ้นในพื้นที่เสี่ยง กรณีดังกล่าว ได้กระตุ้นให้เกิดการก่อตั้งบริษัท Dedrone ที่ปัจจุบันนี้เป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีในการรับมือโดรน ที่มีลูกค้าหลายร้อยราย ที่มาจากมากกว่า 35 ประเทศ

สโมลเดอร์ อธิบายกลไกการทำงานของเทคโนโลยีต่อต้านโดรนนี้ว่า “วิธีหลักที่เราตรวจจับโดรน คือการใช้เซ็นเซอร์เพื่อจำแนกสัญญาณความถี่วิทยุ”

Dedrone Launches Low Collateral Counter-Drone Jammer for Urban Environments
Dedrone Launches Low Collateral Counter-Drone Jammer for Urban Environments

ลูกค้าของบริษัท Dedrone ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เฝ้าระวังโดรน จะได้รับการแจ้งเตือนจากทีมรักษาความปลอดภัยเมื่อระบบตรวจพบว่ามีโดรนต้องสงสัยบินเข้ามาสู่น่านฟ้า และหากโดรนลำดังกล่าวมีท่าทีที่เข้าข่ายเป็นอันตราย เครื่องมือเฝ้าติดตามของบริษัทจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาตำแหน่งของบุคคลที่ควบคุมโดรนเพื่อที่จะทำการสื่อสารโดยตรง

แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรง อย่างเช่นภาวะสงคราม ลูกค้าสามารถที่จะทำให้โดรนหยุดบินได้ โดยใช้ปืนยาว เพื่อยิงคลื่นรบกวนและบังคับให้โดรนร่อนลงอัตโนมัติ

จอห์น เคนอจ รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีด้านการป้องกันจากบริษัท Dedrone ระบุว่า “อุปกรณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า DroneDefender เป็นตัวส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ การใช้งานคือเล็งเป้าไปที่โดรนที่เข้ามาในน่านฟ้า เลือกโหมดการควบคุม และทำการเหนี่ยวไก วิธีการนี้จะเข้ารบกวนสัญญาณระหว่างโดรนกับตัวบังคับ”

การใช้งานโดรนเติบโตมากขึ้น ความพยายามที่จะป้องกันผู้ไม่หวังจำนวนหนึ่งที่พยายามจะใช้งานโดรนในทางที่ผิดก็มากขึ้นตามไปด้วย

มิเรียม แมคนาบ บรรณาธิการจากเว็บไซต์ Dronelife.com เผยว่า “เราต้องการเทคโนโลยีระบบต่อต้านโดรนในพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์เติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว”

ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญมองว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ จะเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมโดรนเชิงพาณิชย์

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG