นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับวีโอเอไทย ระหว่างการพบปะกับชุมชนไทยในนครนิวยอร์ก ในวันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการเยือนสหรัฐฯ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 หรือ UNGA (United Nations General Assembly) และกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสถานะและบทบาทของไทยในเวทีโลก
โดยในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ มีการพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น สาระสำคัญที่นำเสนอในเวที UNGA ความคาดหวังในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC) ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน จุดยืนของไทยในความขัดแย้งในเมียนมาและยูเครน ตลอดจนการวางตัวและการรักษาความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่สำคัญ อย่างสหรัฐฯ และจีน
ถ้อยแถลงบนเวที UNGA - พบปะ 'กูเทอเรซ'
สามเวทีใหญ่ในเดือน พ.ย. โอกาสทองของการคลี่คลายความขัดแย้งโลก?
นายดอนได้ใช้โอกาสในการกล่าวถ้อยแถลง ต่อเวที UNGA เชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของวิกฤตยูเครน และผู้นำโลก ใช้การประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญสามแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งสำคัญที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ รวมถึงวิกฤติในยูเครน
“เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่เราเรียกว่าเป็น golden opportunity" นายดอนกล่าวกับวีโอเอไทย
"เพราะเดือนพฤศจิกายน มีสามสิ่งเกิดขึ้นในเดือนเดียวกัน คือเวทีการหารือในระดับสูง ที่ไปเกี่ยวข้องกับ super stakeholders ผู้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงในระดับสูงสุด ที่จะเข้ามาผูกพันอยู่กับสามเวทีดังกล่าว คือ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (Asean Summit) ที่กรุงพนมเปญ การประชุมจี-20 (G-20) ที่บาหลี และเอเปค (APEC) ที่ประเทศไทย เราจึงเชิญชวนให้ผู้นำของประเทศ super stakeholders ทั้งหลาย เข้ามาในประเทศของเรา มาหาทางเปิดช่องคุยกันเพื่อทำให้เรื่องราวต่าง ๆ มันได้มีโอกาสที่จะได้รับการพูดจา และนำไปสู่สันติภาพได้บ้าง”
ตามที่วีโอเอเคยรายงานก่อนนี้ว่า วิกฤติในยูเครนทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น หลังผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ ประกาศระดมพลกำลังสำรองของประเทศจำนวน 300,000 นาย เพื่อส่งไปสมทบในยูเครน ท่ามกลางรายงานข่าวว่ารัสเซียกำลังถอยร่นในสมรภูมินี้ ปูตินยังประกาศว่า รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านอาวุธนิวเคลียร์ จะใช้ “ทุกวิถีทางที่มี” เพื่อปกป้องรัสเซียและประชาชน ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ออกมาเตือนรัสเซียถึง “วิกฤติร้ายแรงที่จะตามมา” หากรัสเซียใช้นิวเคลียร์โจมตียูเครน
เตรียมความพร้อม 'เอเปค' กับคำถาม ‘ไบเดน’ จะเข้าร่วมหรือไม่?
“ในด้านของการติดต่อให้ผู้นำมาร่วม ก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถที่จะตอบรับมาได้ทันที จากการที่รับรู้ว่าจะมีเอเปคในช่วงเวลานี้ เขาก็ต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ก็ยังอยู่ในระหว่างการประสานกันเช่นกัน”
ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจที่มหานครนิวยอร์กนั้น Thai PBS World ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ไม่สามารถเดินทางมาร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ ด้วยติด "ภารกิจของครอบครัว" และได้มอบหมายให้รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เข้าร่วมประชุมแทน
นายดอนไม่ยืนยันรายงานข่าวดังกล่าว โดยกล่าวแต่เพียงว่า กระบวนการเทียบเชิญยังอยู่ในระหว่างการประสานงานกัน
“อยู่ในระหว่างการคุยกัน ว่าเราจะจัดการกันอย่างไรเพื่อให้มีความสมบูรณ์ ในระดับเจ้าหน้าที่ ทุกคนเห็นประโยชน์ร่วมกันว่าการมาเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าติดขัดโน่นติดขัดนี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายใน เรื่องครอบครัว ที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องหาทางคลี่คลายแก้ไขเพื่อให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้ว กำลังคุยกัน ประสานงานกันอยู่ เพื่อให้ทุกอย่างมีความสมบูรณ์มากขึ้น ตามเป้าหมายดั้งเดิม”
รายงานข่าวดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี-20 ที่บาหลีในวันที่ 15-16 พ.ย. แต่จะเดินทางกลับกรุงวอชิงตันโดยทันทีหลังจากนั้น
ทั้งนี้ ในวันที่ 21 ก.ย.รองนายกรัฐมนตรีของไทยได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุม UNGA ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเป็นประธานการจัดเลี้ยง โดยได้มีการถ่ายภาพร่วมกัน
บทบาทและการวางตัวของไทย ในยามที่ ‘เพื่อน’ ไม่ลงรอยกัน
นอกจากนี้ นายดอนยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับท่าทีของไทย ในการรักษาสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และจีน ในห้วงเวลาที่อุณหภูมิความตึงเครียดและภาวะการแข่งขันระหว่างทั้งสองประเทศมหาอำนาจพุ่งสูงขึ้น และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้เพิ่มบทบาทและอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“อเมริกันกับไทย สัมพันธ์กันมาแล้วร้อยกว่าปี ก็เป็นไปด้วยดีมาตลอด อาจจะมีปัญหาเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาเล็กน้อย แต่ก็หาทางพยายามแก้ไขระหว่างกัน จีนนี่ไม่ต้องพูดถึง อยู่ใกล้บ้านเรา มีเรื่องต่าง ๆ ที่ผูกพันกันอยู่ ทำงานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ผ่านแม่น้ำโขง กิจกรรมกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นประเทศไทยเราไม่เคยมีความรู้สึกหนักใจอันใด เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ไม่ว่าจะใกล้และไกล ภูมิภาคใด สิ่งเหล่านี้กำลังดำเนินไป”
รองนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า การผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจ หรือ “เพื่อน” ที่ไม่ลงรอยกันนั้น ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยต้องวางตัวลำบากแต่อย่างใด
“ไม่เคย [วางตัว] ลำบาก เพราะว่าความป็นเพื่อนที่เรามีต่อแต่ละฝ่ายมันก็ตรงไปตรงมา ขณะเดียวเขาเองเขาก็รับทราบว่าความเป็นเพื่อนที่ไทยมีต่อประเทศหนึ่งนั้นไม่ได้มาจาก เหตุผลหรือสิ่งที่ไม่มีพื้นฐาน มันมาจากกาลเวลา มาจากความร่วมมือระหว่างกัน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ ระหว่างที่เขาไม่ลงรอยกัน ระหว่างที่เขาขัดแย้งกัน เขาก็ร่วมมือกันตามปกติอยู่แล้ว”
“สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ก็คือว่า เพื่อนของเราบางครั้งเขาก็ไม่ค่อยญาติดีกัน ระหว่างเขา แต่เราก็จะให้ ชวนให้เขามองว่าเรื่องอย่างนี้ไม่แปลก แต่สิ่งที่สามารถจะทำและเกิดประโยชน์ให้กับประชาชนของเขาได้ก็คือการที่เขาจะหันหน้าหากัน และหาโอกาสที่จะทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ถ้าทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ มันย่อมเป็นประโยชน์ ไม่เพียงแต่เขา แต่กับนานาประเทศที่เป็นเพื่อนของเขาด้วย”
ไทยยืนอยู่ตรงไหน ในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน?
“จุดยืนของไทยก็คงไม่ต่างกับของหลายประเทศทั่วโลก คืออยากจะเห็นความสงบกลับคืนมา”
นายดอนกล่าวกับวีโอเอไทย เมื่อถามถึงจุดยืนของไทย หลังจากที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อมาเป็นเวลา 7 เดือน หลังจากที่รัฐบาลกรุงมอสโกตัดสินใจบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา
“ก็อาจจะมีหลายประเทศที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปัญหา และเห็นต่างไปจากนี้ แต่สำหรับเรา ประเทศไทย เราเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเล็กที่คิดหาทางออกให้กับปัญหานี้มาแต่ต้น และมีแผนสันติภาพ หลาย ๆ ประเภทรับรู้อยู่” นายดอนกล่าว “แต่การสานต่อ จะได้ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาจจะมีหลายประเทศเห็นต่างจากเรา เขาอาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องเร่งจบไปโดยเร็ว เขาอาจจะอยากเห็นปัจจัยอีกหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง และไม่จบง่าย มันมีความซับซ้อนอยู่มาก ทุกอย่างไม่เป็นขาวและดำ”
รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ไทยเป็นผู้รักสงบ มีความสมดุลในท่าที และวางตัวเป็นกลางต่อความต้องการของทุกฝ่าย
"ด้วยเหตุนี้เราเลยไม่มีความกังวลต่อความสัมพันธ์ที่เราจะมีกับแต่ละประเทศ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติ ไม่ได้แตกต่างจากที่เคยมีก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีความขัดแย้งในยูเครน 24 ก.พ.” นายดอนกล่าว
เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา วีโอเอได้รายงานการเปิดเผยของคณะกรรมการตรวจสอบอิสระระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ที่ระบุว่า มีหลักฐานว่าทหารรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน จากการเก็บข้อมูลในกรุงเคียฟ เมืองเชอร์นิฮิฟ เมืองคาร์คิฟ และเมืองซูมี และพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลายในเมืองดังกล่าว รวมถึงการใช้ระเบิดอย่างผิดกฎหมาย การโจมตีใส่เขตที่อยู่อาศัยอย่างไม่เจาะจงเป้าหมาย การทำทรมาน ตลอดจนการใช้ความรุนแรงทางเพศ โดยคณะกรรมการตรวจสอบอิสระฯ ได้นำรายงานเรื่องนี้เสนอต่อสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติแล้วในวันศุกร์ที่ผ่านมา
เมียนมา ปัญหาภายใน ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข
ส่วนความขัดแย้งในเมียนมาที่ยืดเยื้อมาหนึ่งปีครึ่ง หลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนาง ออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เมื่อปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการประท้วงและความวุ่นวายทางการเมืองทั่วประเทศ มีการปราบปรามประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมทั้ง นาง ออง ซาน ซู จี ที่ถูกตั้งข้อหาหลายกระทงและต้องโทษจำคุกหลายปี
นายดอนมองว่า ปัญหาภายในเมียนมา เป็นความขัดแย้งภายที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ และว่าไทยต้องการเห็นปัญหาในเมียนมาคลี่คลายโดยเร็ว เพราะความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีความยาวประมาณ 2,400 กิโลเมตร ด้วยเช่นกัน ไทยได้พยายามผลักดันให้มีการหารือกันในหลายรูปแบบ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศนั้นต้องใช้เวลา และความอดทน
“หลายประเทศก็อาจจะมองว่า กดดันสิ กดดันให้ผู้มีอำนาจหรือฝ่ายทหารคืนอำนาจเสีย อันนั้นมันพูดง่ายแต่โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีใครยึดอำนาจและคืนอำนาจในทันทีโดยไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันกัน เพราะฉะนั้นเรื่องการพูดคุยกันก่อนนี่มันเป็นหัวใจ จะต้องมีทางออกด้วยการพูดคุยกัน ในแง่ของการพูดคุยนั้น ความหมายหนึ่งก็คือหาโอกาสที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน ระหว่างผู้ที่พูดคุย ที่เราเรียกว่า power sharing (การแบ่งสรรปันอำนาจ) มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมชาติของผู้ที่อยู่ในวงการการเมือง วงการผู้บริหารจัดการการเมือง มันต้องมีสิ่งเหล่านี้ แต่มันยังไม่ได้เกิดขึ้น”
นายดอนยังยกตัวอย่างด้วยว่า แม้แต่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ประธานวาระหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (Asean) ก็ออกมากล่าวว่า แม้แต่ปัญหาภายในของกัมพูชาเอง ก็ต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ปัญหา
“คนที่มีประสบการณ์เขาพยายามเต็มที่แล้วยังต้องใช้เวลา 20 ปีเลย อันนี้ยังไม่ถึง 2 ปี ปึครึ่ง บอกว่าช้าไปแล้ว รอไม่ไหว ต้องให้เวลา...เราถึงพยายามบอกว่า อย่ามองไปตามทฤษฎีที่เรียนในห้องเรียน textbook approaches อย่างนั้นคงไม่ได้ ต้องมองจากมุมของฝ่ายปฏิบัติ มุมของการแก้ไขปัญหาที่มันเป็นจริง ถึงจะ realistic (เป็นไปตามความเป็นจริง)”
“เราก็อยากเห็นหลายปัญหาได้รับการแก้ไขโดยเร็ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเร็วจนกระทั่งมันนำไปสู่ปัญหาอีกหลายมิติ ด้วยการผลักดัน ด้วยการกดดัน ด้วยการ sanction (ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ) สารพัดอย่าง” นายดอนกล่าว
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา วีโอเอได้นำเสนอรายงานการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ที่ได้กล่าวประณามนโยบายปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลทหารเมียนมา และเรียกร้องให้จีนรวมทั้งสมาชิกอาเซียนร่วมกดดันกองทัพเมียนมาให้ทำการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยและปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพที่ได้ตกลงไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วด้วย
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังย้ำด้วยว่า แม้ว่าอาเซียนจะบรรลุฉันทามติ 5 ข้อให้กับเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว จวบจนวันนี้ “ยังไม่มีพัฒนาการเชิงบวกในด้านนี้เลย”
สถานะ 'นายก' ของ ‘ประยุทธ์’ กับภาพลักษณ์-ความมั่นใจในการประชุมเอเปค
เมื่อมองกลับไปยังสถานการณ์การเมืองของไทย สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงรอความชัดเจนจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ หลังจากที่มีการยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปี ตามที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่
วีโอเอไทยสอบถามนายดอน ถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว และผลกระทบที่อาจจะมีต่อภาพลักษณ์ ความมั่นใจของผู้นำประเทศได้รับเชิญมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ซึ่งนายดอนกล่าวเพียงแต่ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรนำมาโยงกัน
“เราไม่พยายามมาโยง เราพูดถึงมุมนี้ แต่ถ้าจะเอามาโยง ถ้าเอามาโยงจริง ๆ ยิ่งไม่ควรจะไปมีปัญหานี้ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ เพราะประเทศทุกประเทศเนี่ย สิ่งทีดีที่สุดสำหรับประเทศนั้นคือเสถียรภาพ ความสงบเรียบร้อยและการเดินต่อไปของประเทศอย่างราบรื่น”
- รายงานโดย วรางคณา ชมชื่น วีโอเอไทย