เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ เรียกร้องให้คณะผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย หลังจากที่มีรายงานการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป
กูเทอเรซ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ญี่ปุ่นว่า การโจมตีใด ๆ ก็ตามต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ "คือการฆ่าตัวตาย" และแสดงความกังวลว่าสงครามในยูเครนอาจยืดเยื้อไปอีกนาน "ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกและความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด"
เลขาธิการยูเอ็นกล่าวด้วยว่า สหประชาชาติกำลังทำงานร่วมกับตุรกีเพื่อให้เกิดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ความพยายามนี้กำลังประสบปัญหาหลายอย่างเนื่องจากเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน กล่าวคือ "ทางยูเครนไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขที่ดินแดนบางส่วนของตนต้องตกอยู่ภายใต้การครอบครองของรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียเองก็ไม่ยอมรับหากจะต้องคืนดินแดนที่ยึดครองไว้แล้วนั้นให้กับยูเครนหรือยอมให้เป็นรัฐอิสระ"
ทางด้านทูตยูเครนประจำสหประชาชาติ เยฟเฮนี ซิมบาเลียก (Yevhenii Tsymbaliuk) กล่าวต่อสหประชาชาติ ขอให้ประกาศให้พื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย เป็นเขตปลอดอาวุธ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับหายนะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อหลายสิบปีก่อน และว่า "เวลานี้เจ้าหน้าที่ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ทำงานโดยมีปืนของทหารรัสเซียจ่ออยู่"
ทูตยูเครนประจำสหประชาชาติระบุว่า กองทัพรัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้าเพราะต้องการให้เกิดไฟฟ้าดับทางภาคใต้ของยูเครนที่ซึ่งกำลังเกิดการต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างทั้งสองฝ่าย และว่า "หากเกิดความเสียหายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจวัดระดับกัมมันตภาพรังสีได้ และไม่ใช่แค่ยูเครนเท่านั้นที่ต้องเผชิญกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล แต่เป็นยุโรปทั้งทวีป"
ทูตเยฟเฮนี ซิมบาเลียก กล่าวด้วยว่า ยูเครนจะใช้ช่องทางการทูตทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อให้ผู้ตรวจสอบต่างชาติสามารถเข้าถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกโจมตีโดยเร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกินสิ้นเดือนนี้
ทางด้านสำนักข่าว RIA Novosti ของรัสเซีย รายงานว่า รัฐบาลกรุงมอสโกพร้อมเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ได้
รัสเซีย-ยูเครน กล่าวหากันและกัน
ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างกล่าวหากันและกันว่าเป็นผู้โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย โดยทางรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนใช้ระบบยิงจรวดแบบหลายลูกยิงใส่โรงไฟฟ้าแห่งนี้เพื่อ "ใช้ยุโรปเป็นตัวประกัน"
ทางการยูเครนระบุว่า กองทัพรัสเซียระเบิดทำลายอุปกรณ์ตรวจจับกัมมันตภาพรังสีที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวเมื่อคืนวันเสาร์ และทำให้มีคนงานบาดเจ็บอย่างน้อยหนึ่งคน
ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ระบุในทวิตเตอร์ว่า "ประชาคมโลกจำเป็นต้องตอบโต้อย่างรุนแรงขึ้นต่อการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการลงโทษอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของรัสเซีย"
รัสเซียยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซียเมื่อเดือนมีนาคม แต่ยังคงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยูเครนทำงานที่โรงงานดังกล่าว และเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รัสเซียกล่าวหายูเครนว่าเป็นผู้โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ด้วยระบบยิงจรวดอูรากัน (Uragan) สร้างความเสียหายให้กับอาคารบางส่วนที่ใช้กักเก็บนิวเคลียร์
แต่ทางบริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครน เอเนอร์โกอตอม (Energoatom) เผยว่า รัสเซียยิงจรวดโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อวันเสาร์ ซึ่งรวมถึงโรงกักเก็บที่มีถังบรรจุเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ 174 ถังเก็บอยู่ด้านใน แต่ยังไม่มีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลแต่อย่างใด
ขณะที่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวอาจทำให้เกิดหายนะด้านนิวเคลียร์ขึ้นได้
- ข้อมูลบางส่วนจากรอยเตอร์