ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ร่วมประชุมแบบออนไลน์ครั้งที่ 5 ระหว่างทั้งสองในวันพฤหัสบดี โดยในการหารือที่ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงนั้น มีการถกประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ตึงเครียดขึ้นเพราะสถานการณ์ในไต้หวัน
ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า การหารือระหว่างสองผู้นำนั้นเริ่มต้นเมื่อเวลา 8.33 น. และสิ้นสุดลงเมื่อ 10.50 น. ตามเวลาเวลาในกรุงวอชิงตัน โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเด็นที่ทั้งสองหยิบยกขึ้นมาคุยนั้นมีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ที่จีนยังไม่เคยออกมาประณามเลย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพี รายงานว่า สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนขึ้นรายงานบนเว็บไซต์ของตนที่ระบุว่า “ผู้นำทั้งสองมีการสื่อสารเบื้องลึกกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และประเด็นที่เป็นความกังวลร่วมของทั้งสอง" โดยกรุงปักกิ่งเผยแพร่เอกสารที่ระบุว่า ปธน.สี ได้เน้นย้ำกับปธน.ไบเดน เกี่ยวกับสิทธิ์ของจีนเหนือไต้หวันด้วย
กระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า “ปธน.สี ได้ย้ำว่า การมองและให้การจำกัดความประเด็นความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ว่าเป็นเรื่องการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ และการมองว่า จีนเป็นคู่แข่งหลักและเป็นความท้าทายระยะยาวที่สำคัญที่สุด คือ การมองความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อย่างไม่ถูกต้อง ทั้งยังเป็นการตีความพัฒนาการของจีนอย่างผิด ๆ รวมทั้ง จะทำให้ประชาชนของทั้งสองและประชาคมโลกเข้าใจผิดด้วย”
ทางด้านทำเนียบขาว มีการเผยแพร่เอกสารรายละเอียดการประชุมที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปที่ระบุว่า การหารือระหว่างปธน.ไบเดน และปธน.สี นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลไบเดน ที่จะรักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีนให้คงอยู่และเหนียวแน่นขึ้นด้วย พร้อม ๆ กับการแก้ไขปัญหาความต่างและทำงานด้วยกันในประเด็นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
ทำเนียบขาวยังเปิดเผยด้วยว่า ผู้นำทั้งสองหารือทั้งประเด็นในระดับภูมิภาคและระดับโลกอื่น ๆ ก่อนจะสั่งการให้ทีมงานของรัฐบาลทั้งสองติดตามการดำเนินงานตามรายละเอียดของการประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและความมั่นคงด้านสาธารณสุข
ในส่วนของกรณีไต้หวันนั้น ปธน.ไบเดน ได้เน้นถึงนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะต้องช่วยเหลือไต้หวันในยามที่จำเป็น และย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ที่คัดค้านการใช้กำลังฝ่ายเดียวเข้าเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) หรือบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงในแถบช่องแคบไต้หวันด้วย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มองว่า หลัก ๆ แล้ว การประชุมของปธน.ไบเดนและปธน.สี ในครั้งนี้ คือ โอกาสที่ทั้งคู่จะถกหนทางดูแลการแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนี้ หลังความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ตึงเครียดขึ้นเพราะกรณีของไต้หวัน ที่ผู้นำจีนประกาศย้ำว่า จะรวมเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ให้ได้ แม้ต้องใช้กำลังก็ตาม
ก่อนที่จะมีการประชุมในวันพฤหัสบดี กรุงปักกิ่งออกมาเตือนสหรัฐฯ ให้ระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หาก ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.แนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวันจริง เพราะการทำเช่นนั้นจะยิ่งเป็นเหมือนการที่กรุงวอชิงตันประกาศสนับสนุนไต้หวันอย่างมาก และจะนำมาซึ่งภัยคุกคามทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจจากจีนในที่สุด
แม้สหรัฐฯ จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันและปฏิบัตตามนโยบายจีนเดียวของกรุงปักกิ่ง แต่กฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลกรุงไทเปในการปกป้องตนเองเมื่อมีความจำเป็น ขณะที่ สภาคองเกรสกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้แสดงจุดยืนสนับสนุนกรุงไทเปให้มากขึ้นอยู่
จอห์น เคอร์บี โฆษกคณะทำงานฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธว่า การประชุมระหว่างสองผู้นำ “เป็นเรื่องของการรักษาช่องทางการสื่อสารกับประธานาธิบดีจีนเอาไว้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่สำคัญที่สุดที่สหรัฐฯ มีอยู่ ... ไม่เพียงแต่สำหรับภูมิภาคนั้น แต่หมายถึงทั่วโลกด้วย เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันกับหลายประเด็น”
แหล่งข่าวรายหนึ่งที่มีข้อมูลเกี่ยวกับแผนการประชุมในวันพฤหัสบดี เปิดเผยว่า รัฐบาลปธน.ไบเดน คิดว่า การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำต่อผู้นำ คือ หนทางที่ดีที่สุดเพื่อช่วยลดความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวัน
นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า ปธน.สี เองก็สนใจที่จะหลีกเลี่ยงการยกระดับความตึงเครียด เพราะตนเองกำลังพยายามหาทางอยู่ในตำแหน่งเป็นวาระที่ 3 ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่น่าจะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งการดำรงตำแหน่งปธน.จีนมากกว่า 2 สมัยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีผู้นำจีนคนใดทำมาก่อน
ครั้งล่าสุดที่ ปธน.ไบเดนและปธน.สี ประชุมกันคือเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ เตือนกรุงปักกิ่งให้ระวัง “ผลลัพธ์” ของการให้ความสนับสนุนต่าง ๆ ต่อการทำสงครามของรัสเซีย แม้ว่า จนถึงบัดนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า จีนยังไม่ได้ทำการใด ๆ ที่ข้ามเส้นตั้งแต่การประชุมครั้งก่อนของสองผู้นำ
- ที่มา: รอยเตอร์ เอพี และทำเนียบขาว