องค์กรตรวจสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานว่า นักรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลไทยหลายสิบคนตกเป็นเป้าหมายของการลอบโจมตีทางไซเบอร์โดยใช้สปายแวร์ เพกาซัส (Pegasus) ระหว่างปีพ.ศ. 2563 - 2564 ในช่วงที่สถานการณ์การประท้วงในประเทศไทยกำลังตึงเครียด
รายงานขององค์กร Citizen Lab จากแคนาดา ซึ่งจัดทำร่วมกับกลุ่ม iLaw และ DigitalReach ในประเทศไทย ระบุรายชื่อนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ทนายความและเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอราว 30 คน ซึ่งถูกโจมตีด้วยสปายแวร์ในโทรศัพท์มือถือของพวกเขาในช่วงเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2563 ถึงเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดการประท้วงใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนประชาธิปไตย
ส่วนหนึ่งของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย คือ ทนายอานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง, และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ตามรายงานของ Citizen Lab
ทั้งนี้ ซอฟแวร์เพกาซัส สร้างขึ้นโดยบริษัทอิสราเอล NSO Group สามารถลอบดึงข้อมูลและเข้าแทรกแซงกล้องหรือไมโครโฟนในอุปกรณ์สื่อสารที่ถูกสปายแวร์นี้โจมตีได้
อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้มิได้ระบุว่าใครอยู่เบื้องหลังการลอบใช้สปายแวร์โจมตี แต่ชี้ว่า NSO Group ขายซอฟแวร์ให้แก่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เท่านั้น
ทางด้านองค์กร Amnesty International ซึ่งจัดทำรายงานตรวจสอบเรื่องนี้ กล่าวประณามการใช้สปายแวร์เจาะล้วงข้อมูลของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านั้น
เอเตียนน์ เมนิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี กล่าวว่า การเปิดเผยครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างที่น่าตกตะลึงเกี่ยวกับวิธีที่ผู้มีอำนาจนำมาใช้ในการควบคุมการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ และนี่เป็นเพียงตัวอย่างที่พบเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ขนาดและขอบเขตของการลอบติดตามสอดส่องฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอาจใหญ่และสร้างความเสียหายมากกว่านี้
ทั้งนี้ NSO Group กำลังถูกบริษัทแอปเปิล (Apple) ฟ้องร้องในสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาว่ามีการใช้ซอฟแวร์เพกาซัสในการลอบเจาะล้วงข้อมูลของโทรศัพท์ไอโฟนจำนวนมากทั่วโลก
- ที่มา: เอเอฟพี