ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์กรสื่อออกรายงานชี้ถึงกระเเสข้อมูลบิดเบือน-อันดับเสรีภาพสื่อของไทยดีขึ้น


RSF
RSF

รายงานชิ้นใหม่ของหน่วยงานด้านเสรีภาพสื่อ Reporters Without Borders หรือ RSF เปิดเผยการจัดอันดับประเทศตามระดับเสรีภาพสื่อ และการศึกษาระบุว่าโลกกำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของกระแสโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลที่บิดเบือน

นอกจากนี้กระแสดังกล่าว ที่นำโดยรัสเซียกำลังสร้างผลที่น่ากังวลต่อการทำงานของสื่อเสรี ซึ่งรวมถึงรอยแยกที่ลึกขึ้นของสื่อภายในประเทศเดียวกันเองและในระดับนานาชาติ

เคลตัน ไวเมอร์ รองผู้อำนวยการ RSF ที่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส สำหรับงานที่เกี่ยวกับสหรัฐฯ กล่าวว่า “ในปี 2022 สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือเกิดการแบ่งขั้วในวงการสื่อและในการนำเสนอข้อมูล ช่วยเติมเชื้อไฟการแบ่งแยกในสังคมในรูปแบบที่ค่อนข้างใหม่”

ในการจัดอันดับเสรีภาพสื่อในประเทศต่างๆ ซึ่งอิงปัจจัยด้าน การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และความมั่นคง

รัสเซียอยู่ที่อันดับ 155 ท่ามกลางการใช้อำนาจของรัฐเข้าควบคุมสื่อเสรีที่เข้มข้น หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ส่วนเกาหลีเหนือคือประเทศที่อยู่รั้งท้ายของตาราง คืออยู่ที่อันดับ 180

ในส่วนของไทยรายงานของ RSF ชี้ว่า ไทยอยู่ที่ลำดับ 115 ในปีนี้ ดีขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 137 รายงานฉบับนี้มิได้ให้รายละเอียดถึงเหตุผลของพัฒนาการเชิงบวกในไทย แต่ระบุว่า ปีนี้มีการเปลี่ยนวิธีการพิจารณาลำดับของประเทศต่างๆ “จึงควรใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาเปรียบเทียบอันดับของปี 2022 และปีที่แล้ว”

FILES-THALAND-POLITICS-PRAYUT
FILES-THALAND-POLITICS-PRAYUT

และเสรีภาพสื่อของไทยยังอยู่ในกลุ่ม “สถานการณ์ยากลำบาก” ที่มี 38 ประเทศทั่วโลก ในการจัดกลุ่มทั้งหมด 5 กลุ่ม และกลุ่ม “สถานการณ์ยากลำบาก” (Difficult Situation) ถือเป็นกลุ่มที่น่ากังวลอันดับ 4 จะเป็นรองก็แต่กลุ่มที่ถูกเรียกว่า “สถานการณ์รุนแรงยิ่ง” (Very Serious Situation)

โดยรวม RSF กล่าวว่า ท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง เสรีภาพสื่อในไทยยังประสบกับข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเรื่องการใช้อำนาจของรัฐคุกคามสื่อ และสิ่งท้าทายจากกฎหมายต่างๆ เช่นมาตรา 112 ที่สามารถถูกตีความได้กว้างมากแต่มีอัตราโทษสูง ตลอดจนกฎหมายหมิ่นประมาท และกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นต้น

สำหรับประเทศจีน ซึ่งติดอันดับ 175 ในปีนี้ องค์กร RSF กล่าวว่าจีนคือประเทศที่มีนักข่าวถูกกักขัง 120 คน ถือว่ามากที่สุดในโลก และเมื่อฮ่องกงอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนอย่างชัดเจน อันดับเสรีภาพสื่อของฮ่องกงจึงลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 148

สหรัฐฯ ซึ่งติดอันดับ 42 ก็มีปัญหาด้านเสรีภาพสื่อเช่นกันหลังจากที่สื่ออเมริกันโดนโจมตีโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่มักตำหนิสื่อว่าเป็นผู้ให้ข่าวปลอม หรือ “fake news”

ประเทศที่เป็นความหวังด้านเสรีภาพสื่อ คือนอร์เวย์ เดนมาร์กและสวีเดน ที่ติด 3 อันดับแรก

นอกจากนี้ RSF ระบุว่าเสรีภาพสื่อมีส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งติดอันดับ 17 รวมถึงภูฏาน และมองโกเลียที่ยืนอยู่ที่ 33 และ 90 ในการจัดอันดับครั้งนี้

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG