เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หดตัวในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะเดินหน้าจับจ่ายกันอย่างคึกคัก ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
รายงานจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศหดตัวราว 1.5% ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมและเดือนมีนาคมของปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์การหดตัว 1.4% ที่ทางกระทรวงฯ เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้ว
การหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะถดถอยอันเนื่องมาจากการระบาดหนักของโควิด-19 ก่อนที่จีดีพีของสหรัฐฯ จะพลิกกลับมาขยายตัวอย่างมากที่อัตรา 6.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่า การหดตัวครั้งล่าสุดนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณของการถดถอยทางเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากสาเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือช่องว่างทางการค้าที่ถ่างขึ้น ซึ่งก็คือช่วงที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออก จนทำให้จีดีพีของไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2022 หายไปถึง 3.2%
นักวิเคราะห์เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาและขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้แล้ว
อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อพุ่งยังคงเป็นปัญหาหลักของสหรัฐฯ และทำให้กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำในประเทศใช้ชีวิตอย่างยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนผิวสี
และแม้ว่า คนงานทั่วประเทศจำนวนมากจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างพอสมควร ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ยังไม่มากพอที่จะหักล้างกับผลกระทบของค่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมาจนถึงระดับ 8.3% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
แต่กระนั้น เมื่อลองพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมแล้ว ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะที่ดีอยู่ จากตัวเลขการจับจ่ายของผู้บริโภคที่ยังแข็งแกร่งและขยายตัวในอัตรา 3.1% ต่อปีในไตรมาสแรก ขณะที่ การลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถการผลิตก็เพิ่มขึ้นถึง 6.8% ด้วย
นอกจากนั้น ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและมีการว่าจ้างงานมากขึ้นถึงกว่า 400,000 ตำแหน่งเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกัน จนทำให้อัตราการว่างงานลดลงต่ำถึงเกือบแตะจุดต่ำสุดในรอบ 50 ปี ก็ส่งผลให้ประชนชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยและมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่อัตราประเมิน 2.3% ในไตรมาสปัจจุบัน และ 2.5% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในช่วงนี้ โดยเฉพาะผลกระทบของสงครามในยูเครนที่ก่อให้เกิดปัญหาการหยุดชะงักในภาคพลังงาน การผลิตและขนส่งเมล็ดธัญพืช และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ทั้งยังทำให้ราคาเชื้อเพลิงและอาหารปรับเพิ่มสูงอย่างมาก ขณะที่ นโยบายควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดเด็ดขาดของจีนก็ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกมีปัญหาอยู่ด้วย
- ที่มา: AP