ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นายกฯ ศรีลังกา รับ 'เศรษฐกิจพังพินาศ' แล้ว


Sri Lanka's new prime minister Ranil Wickremesinghe gestures during an interview with The Associated Press in Colombo, Sri Lanka, June 11, 2022.
Sri Lanka's new prime minister Ranil Wickremesinghe gestures during an interview with The Associated Press in Colombo, Sri Lanka, June 11, 2022.

นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา ยอมรับต่อสมาชิกรัฐสภาในวันพุธว่า เศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญปัญหานี้นั้น “พังพินาศ” ลงแล้ว หลังเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร พลังงาน และไฟฟ้า ในประเทศมานานหลายเดือน ซึ่งตอกย้ำถึงภาวะวิกฤตของศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามหาแหล่งกู้เงินจากต่างชาติมาพยุงประเทศอยู่ ตามรายงานของเอพี

การออกมายอมรับสภาพการณ์ในประเทศของนายกฯ ศรีลังกาในครั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุถึงความคืบหน้าใหม่ใด ๆ แต่น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อการเน้นย้ำให้นักการเมืองฝ่ายค้านเห็นว่า เขาแบกรับหน้าที่อันยากลำบากที่ไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเต็มไปด้วยภาระหนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป และผลกระทบอื่น ๆ จากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น

ในสัปดาห์นี้ สมาชิกสภาจากพรรคฝ่ายค้านหลักสองพรรคไม่เข้าร่วมการประชุมสภาเพื่อประท้วงนายกฯ วิกรมสิงเห ที่ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ โดยนายกฯ ผู้นี้เข้ารับตำแหน่งได้เพียงหนึ่งเดือนควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

นายกฯ วิกรมสิงเห กล่าวว่า ศรีลังกาไม่สามารถซื้อพลังงานนำเข้าได้ เนื่องจากบริษัทพลังงานของรัฐบาล Ceylon Petroleum Corporation เป็นหนี้ 700 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไม่มีประเทศหรือองค์กรใดต้องการขายน้ำมันให้ศรีลังกา

นายกฯ ศรีลังกาเข้ารับตำแหน่งหลังเกิดเหตุประท้วงรุนแรงต่อวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้นายกรัฐมนตรีคนก่อนต้องลงจากตำแหน่ง โดยนายกฯ วิกรมสิงเหกล่าวหารัฐบาลชุดก่อนว่า ดำเนินการล่าช้า ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังการ่อยหรอลง

วิกฤตทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าของประเทศ ทำให้ศรีลังกาขาดอาหาร น้ำมัน ไฟฟ้า และปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เช่น ยา ทำให้ประชาชนต้องต่อแถวยาวเพื่อรอรับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

ที่ผ่านมา ศรีลังกาได้รับวงเงินเครดิตจากอินเดียเป็นมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่นายกฯ วิกรมสิงเหระบุว่า อินเดียคงไม่สามารถช่วยเหลือศรีลังกาได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ธนาคารโลกระบุว่า จะมอบความช่วยเหลือ 300-600 ล้านดอลลาร์ แก่ศรีลังกาเพื่อใช้ซื้อยาและสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ด้วย

ก่อนหน้านี้ ศรีลังกาประกาศว่าจะระงับการชำระหนี้ต่างชาติจำนวน 7,000 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดชำระในปีนี้ ในระหว่างที่รอผลการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ศรีลังกาต้องชำระเงินคืนไอเอ็มเอฟ เฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์จนถึงปี ค.ศ. 2026

นายกฯ ศรีลังการะบุว่า ความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเหมือนจะเป็นหนทางเดียวของประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟได้เดินทางเยือนศรีลังกาเพื่อหารือถึงแผนฟื้นฟูแล้ว และคาดว่าจะสรุปข้อตกลงระดับเจ้าหน้าที่ได้ภายในสิ้นเดือนหน้า


เขาระบุต่อว่า ไอเอ็มเอฟและศรีลังกา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นและได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การคลังสาธารณะ ความยั่งยืนของหนี้ ความมั่นคงของภาคธนาคาร และเครือข่ายการประกันสังคม

นายกฯ ศรีลังกายังกล่าวด้วยว่า ตัวแทนจากสองบริษัทการเงิน ลาซาร์ด (Lazard) และคลิฟฟอร์ด แชนซ์ (Clifford Chance) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษารัฐบาลด้านการปรับโครงสร้างหนี้ กำลังเดินทางเยือนศรีลังกา ขณะที่ทีมจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนในสัปดาห์หน้า

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG