กิจกรรมการผลิตและยอดขายสินค้าปลีกของจีนลดลงอย่างมากในเดือนเมษายน ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลจีนนำมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานสินค้าของประเทศที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดของโลก ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics - NBS) เปิดเผยว่า ยอดขายสินค้าปลีกของจีนในเดือนเมษายนลดลง 11.1% จากปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าลดลงมากที่สุดในรอบกว่าสองปี ขณะที่ปริมาณการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ลดลง 2.9% ซึ่งลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020
นักวิเคราะห์เตือนว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนรอบใหม่นี้อาจยากที่จะจัดการมากกว่าเมื่อคราวที่เกิดการระบาดของโควิดใหม่ ๆ ในช่วงต้นปี 2020 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลจีนมีทางเลือกที่จำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการส่งออกที่ดูเหมือนจะซบเซาในระยะยาวเนื่องจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน
ฟู หลิงฮุย โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวว่า กล่าวในวันจันทร์ว่า การระบาดของโควิดส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจจีนในเดือนเมษายน แต่จะเป็นผลกระทบในระยะสั้น และเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะเริ่มฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคม เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดในนครเซี่ยงไฮ้และเมืองจี้หลินได้
นอกจากนี้ การระบาดของโควิดยังส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานของจีนซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญด้านนโยบายอันดับต้น ๆ ของรัฐบาลจีนในการรักษาเสียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจพบว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 6.1% ในเดือนเมษายน สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 และสูงกว่าระดับเฉลี่ย 5.5% ที่รัฐบาลจีนประเมินไว้ในปีนี้
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 5.5% อาจจะยากมากขึ้นที่จะทำได้ตามเป้าเมื่อรัฐบาลยังคงใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยเศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ระดับ 4.8% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
หนี เหวิน นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Hwabao Trust ในนครเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลจีนควรระมัดระวังหากจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก หรือเพิ่มอัตราเงินสดสำรองของธนาคารต่าง ๆ แต่แนะนำให้ใช้มาตรการเชิงโครงสร้างที่ที่มุ่งเป้าเฉพาะไปที่ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหา เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
- ที่มา: รอยเตอร์