มาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของประเทศจีน กำลังสร้างแรงกระเพื่อมให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลก ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ความเดือดร้อนเกิดขึ้นกับเกษตรกร รวมไปถึงคนขับรถบรรทุกขนส่งผลไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งประเทศเวียดนาม กัมพูชาและไทย
บรรดาคนขับรถบรรทุกขนผลไม้ชาวเวียดนาม ใช้เวลาว่างระหว่างรอปักหลักที่จุดพักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนเวียดนามและจีน กินข้าวและสังสรรกับเพื่อนร่วมอาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ส่งผลไม้ที่ขนมาเข้าไปยังประเทศจีนได้หรือไม่
เหวียน คง วี คนขับรถบรรทุกขนส่งขนุนชาวเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า ทางฝั่งจีนประกาศว่าคนขับรถบรรทุกในพื้นที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องปิดจุดผ่านแดนเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค และนั่นคือสาเหตุที่พวกเราต้องนั่งรออย่างยาวนาน พืชผลที่บรรทุกมาก็เริ่มเน่าเสีย ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายและหงุดหงิดอย่างมาก
ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 คนขับรถบรรทุกขนส่งผลไม้จะใช้เวลาประมาณ 8 -9 วัน ต่อการจัดส่งหนึ่งรอบ แต่หลังจากเกิดการระบาดใหญ่ การขนส่งผลไม้แต่ละรอบใช้เวลามากกว่า 1 เดือน ซ้ำร้ายอาจจะไม่ได้ส่งพืชผลตามเป้าหมาย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ คนขับรถไม่สามารถติดต่อผู้จัดส่งได้ ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องทิ้งผลไม้ และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ การควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของทางการจีน กำหนดให้ต้องปิดพรมแดนชั่วคราวหากพบผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงระงับการนำเข้าผลไม้บางชนิดเมื่อพบการแพร่ระบาด
เหวียน ฮง คนขับรถบรรทุกขนส่งขนุนชาวเวียดนามอีกราย เปิดเผยว่า เขาอยากส่งผลไม้ให้เสร็จไวๆ เพื่อจะได้กลับบ้านและนำเงินไปซื้อนมให้ลูกกิน แต่เมื่อต้องรอนานๆ ทำให้พวกเขาไม่มีเงินเหลือกลับบ้านแล้ว
เหวียน แทน นาม คนขับรถบรรทุกขนส่งมะม่วงชาวเวียดนาม บอกกับวีโอเอด้วยว่า กลุ่มคนขับรถบรรทุกชาวเวียดนามได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นประจำ เพื่อขนตู้คอนเทนเนอร์ข้ามพรมแดนมาในจุดจอดพักที่ฝั่งของประเทศจีน และผู้สั่งซื้อผลไม้ชาวจีนจะตรวจสอบคุณภาพก่อนชำระเงินให้คนขับรถบรรทุก ซึ่งขณะนี้เขากำลังรอคำตอบจากผู้ว่าจ้างอยู่ และว่าตอนนี้ผ่านไป 1 เดือนกับอีก 10 วันแล้ว แต่การขนส่งผลไม้ยังเสร็จสิ้น เขาไม่เคยต้องเจออะไรแบบนี้มาก่อน และถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ครอบครัวของเขาอาจจะต้องอดตาย
ไม่เพียงแต่คนขับรถขนส่งผลไม้ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่มาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีน กำลังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่พึ่งพิงการจัดซื้อจากประเทศจีนเป็นหลัก
นายศร เมืองแก้ว เกษตรกรอายุ 73 ปี จากบ้านฉิมพลีมงคล อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเพาะปลูกลำไยมานานกว่า 30 ปี บอกว่า เมื่อปีก่อนจีนเคยระงับการนำเข้าลำไยจากไทยเพราะพบเพลี้ยแป้ง และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ยอดขายลดลงมากกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า เขาเพิ่มเติมว่า ตอนนี้คนซื้อน้อยลง ตลาดซบเซา ราคาผลผลิตลดต่ำลงและไม่มีที่จะเอาลำไยไปขาย รายได้ที่ลดลงกำลังกระทบการใช้ชีวิต เพราะไม่มีเงินจะไปจ่ายคนอื่น แต่ก็คงต้องเดินหน้าต่อไปเพราะว่าเริ่มปลูกไปแล้ว
เช่นเดียวกับสถานการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในประเทศกัมพูชา ดูเหมือนจะย่ำแย่ไม่ต่างกัน
เพลียพ นัค จากจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาพ่อค้าคนกลางจากไทยจะรับซื้อลำไยที่เธอปลูกเพื่อส่งออกไปยังจีน แต่พอเกิดโควิด-19 ก็ไม่มีใครมาซื้อผลผลิตของเธอเลย เธอยอมรับว่าลำบากมาก เพราะขายลำไยได้เล็กน้อยในประเทศ แต่แทบจะส่งออกไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์และลำไยออกผลผลิตมาพอดี และตอนนี้ทั้งคนซื้อทั้งคนขายต่างต้องดิ้นรน
เกษตรกรผู้ปลูกลำไยชาวกัมพูชา บอกว่า แม้จะยังพอขายผลผลิตได้อยู่บ้าง แต่ก็ขายได้ในราคาที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนทั้งราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันกำลังพุ่งสูงขึ้น ซึ่งในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มองว่า ตราบใดที่ยังมีการบังคับใช้นโยบายจำกัดโควิด 19 ให้เป็นศูนย์ตามชายแดนของจีน ห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกก็จะยังคงได้รับผลกระทบต่อไป
- ที่มา: วีโอเอ