ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวยูเครนหวั่นรัสเซียจัดประชามติปลอม-สร้างความชอบธรรมแบ่งแยกดินแดน


Russia Ukraine War Kherson Occupation
Russia Ukraine War Kherson Occupation

นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียบุกรุกยูเครนและยึดครองเมืองเคอร์ซอนทางภาคใต้ไว้ได้เมื่อต้นเดือนมีนาคม ชาวเมืองจำนวนมากต่างเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัสเซียมีแผนการพิเศษบางอย่าง ซึ่งดูเหมือนความเชื่อดังกล่าวกำลังเป็นความจริงเมื่อทางการยูเครนเตือนว่า รัสเซียอาจกำลังวางแผนจัดการออกเสียงประชามติปลอมในเมืองเคอร์ซอน เพื่อเปลี่ยนเมืองนี้ให้กลายเป็นเขตการปกครองของกลุ่มผู้ฝักใฝ่มอสโกอย่างสมบูรณ์

เมืองเคอร์ซอนถือเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของยูเครน เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการต่อเรือซึ่งตั้งอยู่ที่จุดบรรจบของแม่น้ำดไนเปอร์กับทะเลดำ ใกล้กับแคว้นไครเมียที่ซึ่งรัสเซียยึดครองไว้ตั้งแต่ 8 ปีก่อน

ที่ผ่านมา รัสเซียปฏิบัติต่อชาวเมืองเคอร์ซอนแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ในยูเครนที่รัสเซียบุกเข้ายึดครอง โดยชาวเมืองผู้หนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า ทหารรัสเซียเข้ามาลาดตระเวนทั่วเมืองอย่างสงบ ไม่มีการยิงประชาชนตามท้องถนน พวกเขาพยายามทำให้ชาวเมืองรู้สึกว่ามาอย่างสันติเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของชาวเมืองเคอร์ซอนได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงสงครามเช่นนี้เมื่อพื้นที่รอบ ๆ ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค เงินสดและสินค้าจำเป็นต่าง ๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนว่าอาจเกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมขึ้น

ที่ผ่านมา รัสเซียขัดขวางการขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่ไปยังเมืองแห่งนี้ ยกเว้นของรัสเซียเอง ซึ่งชาวเมืองเคอร์ซอนมักไม่ยอมรับ ขณะที่ช่องโทรทัศน์ของยูเครนถูกแทนที่ด้วยโทรทัศน์ของทางการรัสเซีย พร้อมกับมีการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวอย่างเข้มงวด

สาธารณรัฐประชาชนแห่งเคอร์ซอน?

ชาวเมืองเคอร์ซอนเชื่อว่า กองทัพรัสเซียมิได้กระทำการรุนแรงโหดร้ายต่อประชาชนเหมือนกับที่ทำในเมืองบูชาและเมืองมาริอูโพล เพราะรัสเซียมีแผนจัดการออกเสียงประชามติเพื่อนำไปสู่การก่อตั้ง "สาธารณรัฐประชาชนแห่งเคอร์ซอน" คล้ายกับความพยายามก่อตั้งสาธารณรัฐดอแนตสก์ และสาธารณรัฐลูฮันสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเครนเตือนว่า เวลานี้รัสเซียกำลังพิมพ์บัตรลงคะแนนเพื่อการลงประชามติที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ตามรายงานของเอพี

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวต่อประชาชนในเมืองเคอร์ซอนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว กล่าวหารัสเซียว่ากำลังวางแผนจัดประชามติ พร้อมเตือนประชาชนว่าอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ กับทหารรัสเซียเพราะอาจถูกนำไปใช้ในการทำบัตรลงคะแนนปลอมได้

Demonstrators, some displaying Ukrainian flags, chant 'go home' while Russian military vehicles reverse course on the road, at a pro-Ukraine rally amid Russia's invasion, in Kherson, March 20, 2022 in this still image from video obtained by Reuters.
Demonstrators, some displaying Ukrainian flags, chant 'go home' while Russian military vehicles reverse course on the road, at a pro-Ukraine rally amid Russia's invasion, in Kherson, March 20, 2022 in this still image from video obtained by Reuters.

ทางด้านนายกเทศมนตรีเมืองเคอร์ซอน อิกอร์ โคลิคาอีฟ ยืนยันว่า หากมีการลงประชามติจริงจะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเนื่องจากเคอร์ซอนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน

นายกเทศมนตรีโคลิคาอีฟระบุด้วยว่า ทหารรัสเซียได้ยึดที่ทำการเทศบาลเมืองเคอร์ซอนเอาไว้แล้วและปลดธงชาติยูเครนลง รวมทั้งมีการแต่งตั้งนายกเทศมนตรีคนใหม่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อปีค.ศ. 2014 มีการออกเสียงประชามติที่แคว้นไครเมียหลังจากรัสเซียเข้ายึดครอง โดยผลการลงคะแนนชี้ว่าประชาชนเกือบ 97% สนับสนุนให้ไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่การลงประชามติดังกล่าวถูกมองว่าบิดเบือนและไม่ถูกต้อง

ความสำคัญของ "เคอร์ซอน" ในฐานะเมืองยุทธศาสตร์

กองทัพรัสเซียประกาศแผนยึดครองภาคใต้และแคว้นดอนบาสทางภาคตะวันออกของยูเครน เป้าหมายเพื่อสร้าง "เส้นทางเชื่อมต่อภาคพื้นดิน" จากรัสเซียไปยังแคว้นไครเมีย

เมืองเคอร์ซอนถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นประตูสู่ภาคใต้ของยูเครน และหากรัสเซียสามารถยึดครองเมืองนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จก็จะสามารถใช้เป็นฐานที่มั่นในการรุกรานเมืองอื่นทางภาคใต้ของยูเครนต่อไป นอกจากนี้ รัสเซียจะสามารถเข้าถึงคลองไครเมียนเหนือ (North Crimean canal) ที่เชื่อมแม่น้ำดไนเปอร์กับแคว้นไครเมีย และเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญสำหรับประชากรในไครเมียด้วย

Russia Ukraine War Kherson Occupation
Russia Ukraine War Kherson Occupation

โวโลดิเมียร์ เฟเซนโก นักวิเคราะห์การเมืองแห่งสถาบัน Penta Center ในกรุงเคียฟ กล่าวว่า แผนการจัดประชามติในเมืองเคอร์ซอนชี้ให้เห็นว่า รัสเซียต้องการครอบครองดินแดนนี้ในระยะยาว

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า "ที่แคว้นไครเมียและดอนบาส รัสเซียได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น (ซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย) แตกต่างจากเมืองทางภาคใต้ที่ซึ่งประชาชนไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย และนั่นหมายความว่ารัสเซียอาจต้องเผชิญความเสี่ยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านหากต้องการครอบครองเมืองนี้ในระยะยาว"

ขณะเดียวกัน ภายในเมืองเคอร์ซอน ประชาชนหลายพันคนต่างเดินขบวนประท้วงทุกสัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกไป โดยทางทหารรัสเซียใช้แก๊สน้ำตาและระเบิดควันเข้าช่วยสลายการชุมนุม

โอลกา คุณครูผู้หนึ่งในเมืองนี้ซึ่งเข้าร่วมการประท้วง กล่าวกับเอพีว่า แม้เธอสามารถพูดภาษารัสเซียได้ แต่จากนี้เธอจะไม่ใช้ภาษารัสเซียในการสื่อสารอีกต่อไป เพราะทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่กองทัพรัสเซียโจมตีโรงพยาบาลผดุงครรภ์และสังหารเด็กจำนวนมาก

"ที่ผ่านมาประชาชนในเมืองนี้เคยรุ่งเรืองและงอกงาม แต่ตอนนี้พวกเขาทำลายชีวิตของพวกเราทุกคน" โอลกากล่าว

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG