ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เรียกการกระทำของรัสเซียในยูเครนว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ทำให้เกิดการถกเถียงกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายว่าสหรัฐฯ จะสามารถกล่าวหารัสเซียด้วยข้อหาดังกล่าวได้หรือไม่
ที่ผ่านมา ปธน.ไบเดน แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการกระทำที่โหดร้ายของรัสเซียในยูเครน โดยเรียกว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เพราะผู้นำสหรัฐฯ มองว่ามีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียกำลังพยายามที่จะฆ่าล้างชาวยูเครนให้หมดสิ้นไป
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง กลับไม่คิดเช่นนั้น และไม่ใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในการอธิบายการกระทำของรัสเซีย
มาคร็องกล่าวว่า คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” นั้น ใช้กับเหตุการณ์ที่มีลักษณะจำเพาะ และเป็นหน้าที่ของนักกฎหมาย ไม่ใช่นักการเมือง ที่จะชี้ว่าการกระทำของรัสเซียเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่
“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” หรือ genocide เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนักกฎหมายชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ราฟาเอล เลมคิน ซึ่งนักวิชาการบอกว่า คำศัพท์ดังกล่าวมีคำจำกัดความที่เฉพาะเจาะจง
เออร์เนสโต เวอร์เดฮา (Ernesto Verdeja) แห่งมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม (University of Notre Dame) ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า คำจำกัดความของคำว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น หมายถึงการจงใจหรือตั้งใจที่จะทำลายกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งทั้งหมด หรือบางส่วน และเมื่อคนกลุ่มนั้นตกเป็นเป้าด้วยเหตุผลอันเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนาของพวกเขา
การพิสูจน์ว่าการกระทำบางอย่างเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่นั้น ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการกระทำนั้นทำไปด้วยความตั้งใจปองร้ายหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศได้พากันถกเถียงว่าการกระทำของรัสเซียเข้าข่ายดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งบางคนบอกว่า คำพูดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานว่ารัสเซียทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้
แดเนียล โรเธนเบิร์ก (Daniel Rothenbeg) แห่งมหาวิทยาลัยอริโซนา (Arizona State University) กล่าวว่าปูตินได้สร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อหาเหตุผลมาอธิบายการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าชาวยูเครนมีความชอบธรรมพื้นฐาน มีสิทธิและอำนาจในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตน
ถึงแม้ว่ารัสเซียและยูเครนจะไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าศาลอาญาระหว่างประเทศยังสามารถที่จะสอบสวนการกระทำของรัสเซียได้ อย่างไรก็ตามพวกเขามองว่าจะเป็นการดีกว่า หากมีการจัดตั้งศาล หรือบัลลังก์ตุลาการพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณากรณีของรัสเซียโดยเฉพาะ
โอลีเซีย สตาซุก (Olesya Stasiuk) แห่งพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน กล่าวว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะจัดตั้งศาลระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อให้ประชาคมโลกรวมตัวกันและร่วมประณามการก่ออาชญากรรมของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไม่เชื่อว่า ประธานาธิบดีปูติน จะถูกนำตัวมาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ถึงแม้ตุลาการจะพบว่าการกระทำของรัสเซียเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ตาม และคนที่ถูกจับกุมหรือถูกนำมาขึ้นศาลก็อาจจะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รัสเซียที่มียศศักดิ์ต่ำกว่าประธานาธิบดี
เออร์เนสโต เวอร์เดฮา แห่งมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม กล่าวว่าศาลระหว่างประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีกองกำลังตำรวจของตน ทำให้ไม่สามารถไปจับกุมตัวใครได้ ผู้ที่ถูกกล่าวหาจึงจะต้องถูกจับกุมตัวโดยองค์กรหรือหน่วยงานอื่นเสียก่อน ก่อนที่จะถูกส่งตัวต่อมาให้ศาลโลก
แต่ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายอย่างมาก ก็ไม่ได้ทำให้คณะทำงานที่กำลังทำการรวบรวมหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวยูเครนหยุดทำงานแต่อย่างใด ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเริ่มต้นสืบสวนการกระทำของรัสเซียแต่เนิ่น ๆ จะยิ่งทำให้สามารถเก็บบันทึกหลักฐานไว้ได้ทันท่วงที และเปิดเผยต่อสาธารณชนได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้อีกด้วย