ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คำสั่งเตรียมพร้อมกองกำลังนิวเคลียร์ของปูติน เพิ่มความเสี่ยง ‘สงครามนิวเคลียร์’ หรือไม่?


This photo taken from video provided by the Russian Defense Ministry Press Service Feb. 19, 2022, shows a Russian Iskander-K missile launched during a military exercise at a training ground in Russia.
This photo taken from video provided by the Russian Defense Ministry Press Service Feb. 19, 2022, shows a Russian Iskander-K missile launched during a military exercise at a training ground in Russia.

เมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน มีคำสั่งให้กองกำลังยับยั้งนิวเคลียร์ หรือ Nuclear Deterrence Force เตรียมพร้อมในระดับสูงเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉิน ก่อให้เกิดความกังวลไปทั่วโลกว่าสงครามในยูเครนขณะนี้อาจลุกลามไปเป็น “สงครามนิวเคลียร์” ได้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ส่งสัญญาณเชิงข่มขู่ว่าสงครามในยูเครนขณะนี้อาจลุกลามไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ หลังจากที่คำสั่งไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของรัสเซียในวันอาทิตย์ว่า ให้เตรียมความพร้อมของ “กองกำลังยับยั้งนิวเคลียร์” (Nuclear Deterrence Force) เพื่อเข้าสู่ "ภารกิจการต่อสู้พิเศษ"

คำสั่งดังกล่าวทำให้มีการจับตามองว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จะเพิ่มระดับการเตรียมพร้อมของกองกำลังด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น โลกอาจก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นรอบใหม่ เมื่อประเทศมหาอำนาจทั้งสองประเทศใช้อาวุธนิวเคลียร์กดดันกันและกัน

สถานการณ์ความตึงเครียดล่าสุดนี้ขัดกับท่าทีของประธานาธิบดีทั้งสองคนเมื่อปีที่แล้วระหว่างการแถลงร่วมกันในการประชุมที่นครเจนีวาว่า ภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์นั้นเป็นแนวคิดจากยุคสงครามเย็นซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีก

เมื่อวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า การเตรียมพร้อมครั้งนี้คือการตอบโต้ต่อมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก หลังจากที่รัสเซียส่งทหารบุกโจมตียูเครนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รวมทั้ง “คำแถลงที่ก้าวร้าวที่มีต่อรัสเซีย”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังประเมินท่าทีดังกล่าวของปูตินว่าจะนำไปสู่โอกาสเกิด “สงครามนิวเคลียร์” หรือไม่?

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรัสเซียมีอำนาจคล้ายกัน คือเป็นคนเดียวที่จะสามารถสั่งการให้โจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้

เจ้าหน้าที่อเมริกันหลายคนให้ความเห็นว่า แม้จะยังไม่ทราบจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของปูติน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักที่ผู้นำของรัสเซียและสหรัฐฯ ไม่ว่าในสมัยใด จะใช้การคุกคามด้านนิวเคลียร์ในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่กำลังเกิดสงครามในยูเครนซึ่งยิ่งทำให้ไม่สามารถมองข้ามความน่าจะเป็นที่รัสเซียจะนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้

Estimated Global Nuclear Warhead Inventories
Estimated Global Nuclear Warhead Inventories

ปัจจุบัน สหรัฐฯ และรัสเซีย คือสองประเทศที่มีคลังอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีทั้งหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถติดตั้งกับเครื่องบิน เรือดำน้ำและขีปนาวุธวิถีโค้ง

ในประวัติศาสตร์มีครั้งเดียวที่อเมริกาเคยใช้นิวเคลียร์โจมตีประเทศอื่น คือการทิ้งระเบิดสองลูกใส่ญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1945 ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในขณะน้ันอเมริกาคือประเทศเดียวที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะทดสอบระเบิดนิวเคลียร์สำเร็จครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1949

แดริล คิมบอลล์ ผู้บริหารของสมาคมควบคุมอาวุธ Arms Control Association กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า คำสั่งของปูตินให้เตรียมพร้อมกองกำลังยับยั้งนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่รัสเซียกำลังเผชิญแรงกดดันจากมาตรการลงโทษของประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาอันตรายอย่างยิ่งยวด ซึ่งสหรัฐฯ กับองค์การนาโต้ต้องใช้ความอดกลั้นอย่างยิ่ง และไม่ควรใช้การคุกคามทางนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้รัสเซียกลับไป

ความหมายของ ‘ระดับการเตรียมพร้อมทางนิวเคลียร์’

ในทางทฤษฎี ระดับการเตรียมพร้อมทางนิวเคลียร์หมายถึงความพร้อมในการยับยั้งการโจมตีจากศัตรู โดยแนวคิดดังกล่าวคือการเตรียมพร้อมศักยภาพในการตอบสนองต่อวิกฤติด้านนิวเคลียร์ดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้นเพื่อที่ศัตรูจะไม่สามารถโจมตีได้ตั้งแต่แรกและลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายครั้งใหญ่

ตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งในการเตรียมความพร้อมด้านนิวเคลียร์ คือ ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป หรือ ICBM ซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นอาวุธที่สามารถตอบโต้การโจมตีได้รวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตที่ประธานาธิบดีต้องตัดสินใจอย่างฉุกเฉิน โดยเวลานี้สหรัฐฯ มีขีปนาวุธ ICBM 400 ลูกติดตั้งหัวรบและพร้อมใช้งานทันที

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอาวุธแนะนำว่า ควรแยกหัวรบนิวเคลียร์ออกจากขีปนาวุธ ICBM ในช่วงเวลาปกติเพื่อป้องกันการสั่งยิงขีปนาวุธด้วยความผิดพลาด แต่มีผู้แย้งว่า การนำหัวรบกลับไปติดตั้งใหม่ในกรณีที่เกิดวิกฤต อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าความขัดแย้งนั้นได้ยกระดับและอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลง

ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อคำสั่งล่าสุดของปูติน

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนได้ตอบโต้ต่อคำสั่งเตรียมพร้อมด้านนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีปูตินอย่างไร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ชัดเจนของคำสั่งดังกล่าวของผู้นำรัสเซีย

ในขณะเดียวกัน ยังคงไม่มีหลักฐานว่ารัสเซียได้เริ่มติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์กับขีปนาวุธหรือฝูงเครื่องบินรบ หรือส่งเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธออกสู่ทะเลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ถึงกระนั้น นอกจากกองกำลังด้านนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic nuclear force) ที่สามารถโจมตีได้ไกลถึงสหรัฐฯ แล้ว ปธน.ปูตินยังมีอาวุธนิวเคลียร์ระยะสั้นและระยะกลาง เช่น ขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยใกล้ และขีปนาวุธร่อน จำนวนหลายพันลูกที่สามารถโจมตีภายในทวีปยุโรปได้

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต่างกังวลว่า ปธน.ปูติน อาจใช้อาวุธโจมตีพิสัยใกล้และพิสัยกลางเหล่านี้ทำลายเป้าหมายในยุโรปในกรณีที่เกิดสงครามกับชาติตะวันตกได้เช่นกัน

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG