หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียมีคำสั่งส่งทหารเข้าพื้นที่ในยูเครนที่มีการเคลื่อนไหวเเบ่งเเยกดินเเดน ผู้นำหลายประเทศกำลังพิจารณามาตรการลงโทษที่รุนเเรงต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้การกระทำครั้งนี้
เยอรมนีเปิดฉากด้วยการหยุดการเดินหน้าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ “นอร์ด สตรีม 2” ที่มีต้นทางจากรัสเซียสู่ยุโรปตะวันตก โดยถือเป็นการตัดรายได้ก้อนโตที่รัสเซียคาดหวังจากโครงการดังกล่าว เเม้การตัดสินใจเช่นนี้กระทบต่อประเทศในยุโรปที่พึ่งพาแก๊ซธรรมชาติจากรัสเซีย
ขณะที่สหรัฐฯออกคำสั่งฝ่ายบริหารจำกัดการลงทุนเเละการค้าในบริเวณของยูเครนที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินเเดนอยู่ และน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมไม่นานจากนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ประเทศตะวันตกมองว่าการที่ประธานาธิบดีปูตินสั่งให้ทหารรุกเข้าดินเเดนในยูเครนถือเป็นการทำผิดต่อความตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ
ผู้นำเหล่านี้มองด้วยว่าถึงเวลาเเล้วที่ต้องใช้มาตรการลงโทษ เมื่อความพยายามทางการทูตไม่ประสบผลสำเร็จ
เท่าที่ผ่านมาประเทศตะวันตกมีจุดยืนชัดเจนว่าความขัดเเย้งในยูเครนไม่ใช่เหตุผลที่สมควรที่พวกตนจะเผชิญหน้าสู้รบโดยตรงกับรัสเซีย จนปานปลายเป็นสงครามโลกครั้งใหม่ ดังนั้นการใช้มาตรการลงโทษจึงเป็นเเนวทางเดียวที่มีในการเเสดงความโกรธเกรี้ยวของโลกตะวันตกต่อรัสเซีย
นายกรัฐมนตรีประเทศลิธัวเนีย อิงกริดา ซิโมไนต์ กล่าวว่า การกระทำครั้งนี้ของรัสเซียเเสดงให้เห็นว่า “ไม่มีความต่ำตมใด ที่ต่ำเกินไป ไม่มีคำโกหกใด ที่เเสบสันเกินไป และไม่มีขีดข้อห้ามใด ที่เเรงพอที่จะหยุดการก้าวล่วง” สำหรับรัสเซีย
ในเวลานี้ ประธานาธิบดีปูตินยังคงสร้างความสับสนให้เเก่ประชาคมโลก ในเรื่องที่ว่าการส่งทหารเข้ายูเครนเป็นการรุกรานระดับใด โดยกล่าวว่าเป็นทหารที่เข้าไป “รักษาสันติภาพ"
เจ้าหน้าที่สูงสุดด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป โจเซ็พ บอร์เรลล์ กล่าวว่า เเม้จะไม่ใช่การรุกรานอย่างเต็มรูปแบบ แต่ถือว่ามีทหารของรัสเซียอยู่ในดินเเดนภายใต้อธิปไตยของยูเครน
ในวันอังคาร รัฐมนตรีต่างประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจะหารือกันเพื่อพิจารณาว่าจะใช้กลุ่มมาตรการลงโทษใดต่อรัสเซียสำนักข่าวเอพีรายงานว่า น่าจะไม่รุนเเรงเท่ากับการลงโทษ “ชุดใหญ่” ที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯเคยขู่ว่าจะใช้ถ้ารัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ
นายกรัฐมนตรีออสเตรีย คาร์ล เนแฮมเมอร์ กล่าวว่าการใช้มาตรการลงโทษเร็วไปและเเรงไปอาจกระทบต่อการตอบโต้ของนานาชาติ
เขาเชื่อว่ามีหลายทางเลือกที่สามารถลงโทษรัสเซียได้อย่างเฉพาะเจาะจงโดยคาดว่าความตึงเครียดของเหตุการณ์ยังไม่ถึงจุดเดือดสูงสุด
สำหรับปฏิกิริยาของประเทศอื่นๆ ประธานาธิบดีมูน เเจอิน ของเกาหลีใต้กล่าวว่ารัฐบาลกรุงโซลเตรียมตัวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศนิวซีเเลนด์นานาไอ มาฮูตา เรียกร้องให้หาทางออกอย่างเร่งด่วนผ่านความพยายามทางการทูต
จีนแสดงความกังวลในเรื่องนี้เเละเรียกร้องให้มีการหาทางออกผ่านช่องทางการทูตเช่นกัน
ส่วนประธานาธิบดีของประเทศตุรกีเรจิบ เทยิบ เออโดวาน กล่าวว่า การตัดสินใจของรัสเซียเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยตุรกีเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทั้งรัสเซียและยูเครน
- ที่มา: เอพี