กว่า 500 ปีที่แล้ว นักรบแอซเท็กได้กวัดแกว่งอาวุธที่เรียกว่า macuahuitl อาวุธกระบองไม้คล้ายดาบฝังใบมีดโดยรอบจากผลึกหินภูเขาไฟที่แหลมคม ซึ่งฝากรอยแผลเหวอะหวะให้กับศัตรูในการต่อสู้ระยะประชิด แต่จากการค้นพบล่าสุดของนักบรรพชีวินวิทยาในภูมิภาคพาตาโกเนียของชิลี ได้ชี้ว่า อาวุธทรงพลังลักษณะดังกล่าวอาจเคยปรากฏอยู่ที่หางของสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กซึ่งเคยอยู่บนโลกมานานกว่า 74 ล้านปีที่แล้ว
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ของชิลี ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชสายพันธุ์ใหม่ นามว่า สเตกูรอส เอเลนแกสเซน (Stegouros elengassen) ในสภาพสมบูรณ์บริเวณเนินเขาสูงชันที่อุทยานแห่งชาติตอร์เรส เดล ไปย์เน่ (Torres del Paine) ของชิลี โดยฟอสซิลไดโนเสาร์โตเต็มวัย อายุ 72 ล้าน ถึง 75 ล้านปีที่ได้รับการค้นพบนี้ มีขนาดเท่ากับสุนัขพร้อมกับรูปหางคล้ายอาวุธดาบ ตามรายงานของเอพี
ไดโนเสาร์สเตกูรอส เอเลนแกสเซน อาศัยอยู่ในยุคครีเทเชียส มี 4 ขาโดยเคลื่อนไหวในลักษณะขนานกับพื้น ลำตัวยาวประมาณ 2 เมตรแต่สูงเพียงระดับสะโพกของมนุษย์ และมีรูปปากเหมือนนกสำหรับการกินพืช
ไดโนเสาร์สเตกูรอส เอเลนแกสเซน เป็นเครือญาติขนาดเล็กของไดโนเสาร์หุ้มเกราะ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ แองไคโลซอรัส (Ankylosaurus) ที่มีขนาดลำตัวยาว 8 เมตร และมีหางเป็นลูกตุ้มหนามแหลมคม กับไดโนเสาร์หุ้มเกราะ สเตโกซอรัส (Stegosaurus) ที่มีช่วงหลังเป็นโครงกระดูกหนามแหลมออกมา
ความพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของ สเตกูรอส เอเลนแกสเซน คือ ปลายหางที่มีหนามแบนเหมือนใบมีด 7 คู่ยื่นออกมาทั้งสองด้านทำให้มันถูกบรรจุเป็นไดโนเสาร์หุ้มเกราะพันธุ์ใหม่
เซอร์จิโอ โซโต หัวหน้าการศึกษาชิ้นนี้ เพิ่มเติมว่า การค้นพบไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่มีหางเป็นอาวุธพันธุ์ใหม่นี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจของทีมวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อจินตนาการถึงการค้นพบไดโนเสาร์หุ้มเกราะชนิดใหม่ พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะพบลักษณะของไดโนเสาร์ที่แตกต่างจากที่รู้จักกันมาแล้ว
ในช่วงแรกของการค้นพบ ไดโนเสาร์ สเตกูรอส เอเลนแกสเซน หรือเจ้า “ไดโนเสาร์หางหนามแบน” นี้ได้ทำให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ของชิลีหลงทางไปพักใหญ่ จากรูปลักษณ์ของไดโนเสาร์ที่มีหางเป็นอาวุธคล้ายกับสเตโกซอรัส ก่อนที่การตรวจสอบทางพันธุกรรม 5 ครั้งจากฟอสซิลดังกล่าวจะยืนยันว่า ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่นี้เป็นญาติที่หายไปของแองไคโลซอรัส
หัวหน้าการศึกษาชิ้นนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า จากหลักฐานการค้นพบ ทีมวิจัยเชื่อว่า ไดโนเสาร์ สเตกูรอส เอเลนแกสเซน จะใช้หางเป็นอาวุธกวัดแกว่งไปเพื่อป้องกันตัว เช่นเดียวกับอเล็กซานเดอร์ วาร์กัส ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยนี้ ที่บอกว่า หางของมันคล้ายกับ macuahuitl อาวุธกระบองไม้ที่ติดผลึกหินภูเขาไฟแหลมคมคล้ายดาบของนักรบแอซเท็กในสมัยกว่า 500 ปีที่แล้วมากทีเดียว
สเตกูรอส เอเลนแกสเซน อาศัยอยู่ในยุคเดียวกับซอโรพอด หรือ ไดโนเสาร์คอยาวที่กินพืช และไดโนเสาร์กินเนื้อที่เดิน 2 ขา รวมทั้งเต่า กบ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก บริเวณริมฝั่งแม่น้ำที่คดเคี้ยวทางซีกโลกใต้
ปัจจุบัน มีข้อมูลการศึกษาไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่อาศัยทางซีกโลกเหนืออยู่มากมาย แต่จากลักษณะพฤติกรรมของไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ค้นพบนี้ ยังคงลักษณะของไดโนเสาร์หุ้มเกราะ สเตโกซอรัส อยู่มาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไดโนเสาร์หุ้มเกราะจากซีกโลกใต้ แตกต่างจากญาติห่างๆ ที่อยู่ทางซีกโลกเหนืออยู่มากในช่วงต้นของวิวัฒนาการ และการค้นพบครั้งนี้ได้เปิดโลกการศึกษาความหลากหลายของสัตว์ดึกดำบรรพ์จากซีกโลกใต้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก
(ที่มา: รอยเตอร์และเอพี)