เป็นเวลาสองปีแล้วที่ชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกในสหรัฐฯ เผชิญการถูกเหยียดเชื้อชาติทั้งทางวาจาและถูกทำร้ายร่างกาย อันเนื่องมาจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้ ครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียต่างคาดหวังว่าจะได้อยู่ฉลองกันพร้อมหน้าตามธรรมเนียม ได้รับประทานอาหารมื้อค่ำร่วมกัน และมอบอั่งเปาให้เด็กๆ มีการจัดงานขบวนพาเหรดฉลองตรุษจีนในไชน่าทาวน์ของมหานครนิวยอร์ก นครชิคาโก และนครซานฟรานซิสโก ตามรายงานของเอพี
ปีเสือที่สื่อความหมายถึงความแข็งแกร่งและกล้าหาญนี้ ยังเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเชิญชวนให้ผู้สูงอายุชาวเอเชียที่อยู่กับความหวาดหลัวกระแสเกลียดชังชาวเอเชีย ให้กล้าออกมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับชุมชนเอเชียมากขึ้น
เมื่อปีที่แล้ว งานเทศกาลตรุษจีนส่วนใหญ่ถูกลดขนาดลงเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในปีนี้มีการกลับมาจัดงานเฉลิมฉลองกลางแจ้งอีกครั้ง โดยผู้จัดงานเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานสวมหน้ากากและกำหนดให้เจ้าหน้าที่จัดงานต้องสวมหน้ากาก
นอกจากงานขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองแล้ว หลายเมืองในสหรัฐฯ ยังมีการจัดงานเดินขบวนเนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีการเสียชีวิตของนายวิชา รัตนภักดี ชายชาวไทย-อเมริกัน วัย 84 ปี ที่ถูกโจมตีขณะกำลังเดินในนครซานฟรานซิสโก
การเสียชีวิตของนายวิชาเป็นหนึ่งในเหตุโจมตีชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกจนถึงแก่ชีวิต โดยงานครบรอบหนึ่งปีการเสียชีวิตของนายวิชานี้มีขึ้นเพียงสองสัปดาห์หลังการเสียชีวิตของมิเชลล์ อลิสซ่า โก หญิงเชื้อสายเอเชียวัย 40 ปี ที่ถูกชายสติไม่สมประกอบผลักตกรางรถไฟใต้ดินในย่านไทม์สแควร์ มหานครนิวยอร์ก จนเธอเสียชีวิต
อแมนดา เหงียน นักเคลื่อนไหว ระบุว่า ยิ่งชาวเอเชียเผชิญเหตุความรุนแรงต่อเนื่องเท่าใด ก็ยิ่งควรเฉลิมฉลองวัฒนธรรมเอเชียอย่างเปิดเผยมากขึ้นเท่านั้น โดยเธอกล่าวว่า การใช้ช่วงเวลาที่ดีกับครอบครัวและเพื่อนๆ ไม่ได้เป็นการลดทอนความสำคัญต่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด แต่เป็น “การโต้กลับ” ความรุนแรงที่ชัดเจนที่สุด
รัสเซลล์ จึง ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรติดตามเหตุความรุนแรงต่อชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก Stop AAPI Hate ระบุว่า ผู้สูงอายุในไชน่าทาวน์ต่างไม่กล้าออกจากย่านที่อยู่อาศัยมาสองปีแล้ว การเฉลิมฉลองเทศกาลด้วยการพาผู้สูงอายุเหล่านี้เที่ยว จับจ่ายซื้อของ รับประทานอาหาร จึงเป็นการช่วยให้พวกเขารู้สึกกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกครั้ง
เมื่อช่วงต้นเดือน กรมตำรวจนครซานฟรานซิสโกรายงานว่า อาชญากรรมความเกลียดชังต่อชาวเอเชียในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 567 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีค.ศ. 2020
นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมโดยศูนย์ Center for the Study of Hate and Extremism ยังระบุว่า มีเหตุความเกลียดชังต่อชาวเอเชียสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ในนครลอสแอนเจลิสและมหานครนิวยอร์ก โดยรัฐจอร์เจียมีผู้เสียชีวิตจากเหตุในลักษณะดังกล่าวมากที่สุด หลังเกิดเหตุกราดยิงที่ร้านสปาในนครแอตแลนตาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เป็นเหตุให้หญิงเชื้อสายเอเชียหกคนเสียชีวิต
ศูนย์ Center for the Study of Hate and Extremism ยังรายงานโดยอ้างตัวเลขเบื้องต้นจากทางตำรวจว่า อาชญากรรมความเกลียดชังต่อชาวเอเชียทั่วสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 339 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับ 124 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีค.ศ. 2020 โดยมีผู้เห็นว่า แนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าทีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสที่พบครั้งแรกในจีน
เหงียน ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรง ยังผลักดันให้มีการเพิ่มการสอนประวัติศาสตร์ชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิกในชั้นเรียนระดับประถมและมัธยมเพิ่มเติม โดยเธอหวังว่า การเพิ่มการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนแนวโน้มการปฏิบัติต่อกลุ่มเชื้อชาติดังกล่าวในอนาคตได้
- ที่มา: เอพี