ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัยเยาว์ร่วมแสดงพลังคนรุ่นใหม่บนเวที COP26


Swedish climate activist Greta Thunberg, centre, attends a 'Fridays For Future' climate protest on the fringes of the COP26 U.N. Climate Summit, in Glasgow, Scotland, Nov. 1, 2021.
Swedish climate activist Greta Thunberg, centre, attends a 'Fridays For Future' climate protest on the fringes of the COP26 U.N. Climate Summit, in Glasgow, Scotland, Nov. 1, 2021.

กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัยเยาว์เข้าร่วมการประชุมด้านภาวะโลกร้อน หรือ COP26 ที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ พร้อมแสดงจุดยืนด้วยการเดินขบวนของนักเรียน การนำเสนอผลงานของคนรุ่นใหม่ และการจัดแสดงส่วนหนึ่งของก้อนภูเขาน้ำแข็งที่ส่งตรงมาจากกรีนแลนด์ เพื่อสะท้อนภาพวิกฤตการณ์รุนแรงในแถบขั้วโลกเหนือ

ผู้จัดงาน COP26 ในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพการประชุมนานาชาติที่มีผู้นำกว่า 100 ประเทศเข้าร่วม ตัดสินใจเปิดเวทีให้ตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานในวันศุกร์ ซึ่งเป็นโอกาสให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ เช่น วาเนสซา นาคาเต จากยูกันดา และ เกรตา ธันเบิร์ก จากสวีเดน แสดงความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเป็นการแสดงการยอมรับว่า คนรุ่นใหม่ คือ ผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับผลลัพธ์ของการตัดสินใจของรัฐบาลต่างๆ ในวันนี้จริงๆ

อิซาเบลล์ แอกเซลส์สัน วัย 20 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหว Fridays For Future ของ ธันเบิร์ก ที่เป็นผู้นำการเดินขบวน กล่าวว่า ทางกลุ่มคาดหวังที่จะเห็นผู้คนจำนวนมาก ที่ไม่ใช่เพียงแต่เยาวชน แต่รวมถึงผู้ใหญ่ที่สนับสนุนเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ต้องการเห็นการลงมือแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ มาร่วมกันเดินเท้าบนถนนในระหว่างที่มีการจัดประชุม COP26 ครั้งนี้

ทั้งนี้ การประชุมว่าด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงขององค์การสหประชาชาติในปีนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะเจรจาให้ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่กำเนิดมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อช่วยควบคุมการปรับขึ้นของเฉลี่ยอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากตัวเลขนี้เกินระดับที่ว่า โลกก็จะประสบกับวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศที่จะถาโถมเข้ามาอย่างหนักได้

นับตั้งแต่การประชุม COP26 ครั้งนี้เริ่มต้นมาเมื่อวันจันทร์ มีการบรรลุข้อตกลงในการลดการใช้ถ่านหิน การตัดไม้ทำลายป่า และการหยุดการปล่อยก๊าซมีเทนไปแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะช่วยบรรเทาภาวการณ์ปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกได้อย่างไรบ้าง

ฟาติห์ บิรอล ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมปีนี้ จะสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ถึง 1.8 องศาเซลเซียส หากทำได้จริงตามที่พูด ขณะที่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากองค์การสหประชาชาติให้ความเห็นว่า การประเมินของ IEA นั้นเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป

XS
SM
MD
LG