ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ก.ความมั่นคงสหรัฐฯ เตือน ข้อมูลบิดเบือนจากต่างประเทศ คือปัจจัยส่งเสริมเหตุก่อการร้ายในประเทศ


Capitol Hill protest
Capitol Hill protest
US Must Fight Foreign Disinformation
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:35 0:00


ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในสหรัฐฯ ที่ยกระดับสูงขึ้นมาตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเร่งหาทางป้องกันเหตุร้ายและความพยายามก่อกวนต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่มาจากต่างประเทศ

และรายงานล่าสุดจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ในด้านความพยายามรับมือกับภัยคุกคามที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุก่อการร้ายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เปิดเผยว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทางการต้องหาทางก้าวผ่านให้ได้คือ การส่งข้อมูลที่ถูกแต่งขึ้นอย่างดีจากองค์กรและกลุ่มก่อการร้ายในต่างประเทศที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อก่อความไม่สงบในผืนดินสหรัฐฯ นั่นเอง

คำเตือนเรื่องภัยคุกคามในยุคดิจิทัลนี้มีออกมาเพียงวันเดียวหลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน เปิดตัวยุทธศาสตร์ชุดแรกของประเทศที่ร่างขึ้นมาเพื่อรับมือกับการก่อการร้ายในประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความเห็นมาตลอดว่า เหตุการณ์รุนแรงโดยฝีมือของกลุ่มแนวคิดสุดโต่งในสหรัฐฯ นั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคลื่อนไหวต่างๆ ขององค์กรหรือกลุ่มก้อนในต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวรายหนึ่งระบุว่า หน่วยงานข่าวกรอง “ไม่พบจุดเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างเหตุก่อการร้ายในประเทศและกลุ่มเคลื่อนไหวในต่างประเทศ” ขณะที่ เจ้าหน้าที่บางรายเตือนว่า การที่ไม่มีการพบจุดเชื่อมโยงดังว่า เป็นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานรูปแบบโครงสร้างที่มีการบัญชาการและการควบคุม (Command and Control) อย่างที่คุ้นเคยกันต่างหาก

FILE - In this Feb. 25, 2015 file photo, the Homeland Security Department headquarters in northwest Washington is shown.
FILE - In this Feb. 25, 2015 file photo, the Homeland Security Department headquarters in northwest Washington is shown.

จอห์น โคเฮน ผู้ประสานงานด้านต่อต้านการก่อการร้ายของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ให้ความเห็นระหว่างเข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ที่จัดโดย มหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตัน เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า “หัวใจหลักที่เป็นศูนย์กลางของภัยคุกคามในปัจจุบันนั้น คือ การหาเนื้อเรื่องที่อาจส่งผลให้ผู้รับมีพฤติกรรมรุนแรง และนำส่งออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบัน มีเนื้อหาเรื่องราวธรรมดาๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นเสียงสะท้อนของคนบางคนที่กำลังมองหาความเชื่อด้านแนวคิดสุดโต่งเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการก่อเหตุรุนแรง ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศและองค์กรก่อการร้ายในประเทศอื่นๆ ด้วย

โคเฮน ระบุว่า ตัวการที่อยู่เบื้องหลังการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว เป็นได้ทั้งรัฐบาลต่างประเทศ เช่น รัสเซีย อิหร่าน หรือ จีน รวมทั้งผู้นำกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง หรือกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการหาประโยชน์จากกระแสความโกรธและสภาวะการแตกแยกทางความคิดในสังคมอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ความกังวลว่าอิทธิพลจากต่างประเทศนั้นเป็นต้นเหตุของการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดสุดโต่งในสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว

รายงานของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ได้ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมและได้รับการอนุมัติให้เปิดเผยต่อสาธารณะ ได้พูดถึงความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มลัทธิชาตินิยมขวาจัดในสหรัฐฯ กับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ โดยมีการระบุว่า สมาชิกกลุ่มดังกล่าวมีประวัติเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ เพื่อประสานความร่วมมือให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย

แต่ โคเฮน เตือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มลัทธิชาตินิยมขวาที่ว่านั้นกลับไม่น่ากังวลเท่ากับสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในโลกออนไลน์แม้แต่น้อย เพราะ “นี่ไม่ใช่ภัยคุกคามที่สามารถสอบสวนได้ และสิ่งที่ทุกฝ่ายทำได้ก็เป็นเพียงการจับตาดูกิจกรรมการเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการโจมตีใดๆ เท่านั้น”

และเมื่อตีวงให้แคบลง รัสเซีย คือประเทศที่บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ มีความกังวลมากที่สุด

แอฟริล เฮนส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการข้อมูลต่อหน้ารัฐสภาในการถาม-ตอบเพื่อลงมติยืนยันรับรองการรับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเครมลินนั้นพยายามดำเนินมาตรการมากมายที่พุ่งเป้าเข้าหาชาวอเมริกันที่มีแนวคิดทางการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา “เพื่อส่งเสริมลัทธิหัวรุนแรง”

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งนักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างเฝ้าเตือนว่า รัสเซียกำลังเร่งหาผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์รุ่นใหม่ๆ เพื่อช่วยระดมขยายฐานผู้ติดตาม (Follower) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหัวซ้ายหรือหัวขวาก็ตาม

Portland Rallies
Portland Rallies

เอกสารที่ทำเนียบขาวเผยแพร่ออกมาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายภายในประเทศของสหรัฐฯ นั้นระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะหาหนทาง “ต่อต้านการสร้างความแตกแยกและแบ่งขั้วความคิดด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลเท็จ และทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่แฝงอันตรายและเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมๆ กับ การสนับสนุนบรรยาการการเผยแพร่ข้อมูลที่จะส่งเสริมวาทกรรมตามแนวทางประชาธิปไตยที่ดีงามด้วย”

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในการรับมือภัยคุกคามนี้ยังมีความชัดเจนมากขึ้น หลังรัฐบาลกรุงวอชิงตันประกาศเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่จะรับรองโครงการต่อต้านการก่อการร้ายและข้อมูลส่งเสริมแนวคิดสุดต่างผ่านระบบออนไลน์ของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ชื่อว่า Christchurch Call to Action to Eliminate Terrorist and Violent Extremist Content Online ซึ่งเปิดตัวออกมาหลังเกิดเหตุกลุ่มมือปืนขวาจัดสังหารประชาชน 51 คนในมัสยิด 2 แห่งเมื่อปี ค.ศ. 2019

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ หลายรายแสดงความกังวลว่า การต่อสู้กับภัยของข้อมูลบิดเบือนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยาก โดยตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงคือ เหตุการณ์ก่อจลาจลยึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ทำให้มีผู้ถูกจับกุมไปแล้วกว่า 500 คน

จอห์น โคเฮน ผู้ประสานงานด้านต่อต้านการก่อการร้ายของกระทรวงฯ ตั้งคำถามว่า “อะไรคือสิ่งที่ให้กลุ่มคนเหล่านั้นมารวมตัวสามัคคีกันได้” แม้ว่าหลายคนที่มาร่วมบุกรัฐสภาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวใดๆ เลยก็ตาม แต่กลับมาอยู่รวมกันเพราะได้รับข้อมูลที่บิดเบือนว่า มีเหตุทุจริตมากมายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว และคนเหล่านี้คือผู้ที่มีความรับผิดชอบที่จะต้องออกมาแก้ไขเรื่องนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ บางรายยังกังวลด้วยว่า อิทธิพลของข้อมูลที่ถูกบิดเบือนอาจรุนแรงขึ้นต่อไปอีก ขณะที่บรรดาคู่อริของสหรัฐฯ ทั้งหลายมีความสามารถที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ซึ่งสามารถยกระดับการแพร่กระจายข้อมูลผิดๆ ขึ้นไปอีก

XS
SM
MD
LG