ในสัปดาห์นี้ ทางการเกาหลีเหนือออกแถลงการณ์ต่อท่าทีของเกาหลีใต้ ที่เน้นย้ำว่าต้องการยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ
ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ เรียกร้องอีกครั้งในสัปดาห์นี้ให้มีการประกาศยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการเพื่อพยายามขับเคลื่อนการเจรจาระหว่างสองเกาหลีที่ยังไม่มีความคืบหน้า
นายริ เท ซอง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ระบุในสื่อทางการของเกาหลีเหนือเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ข้อเรียกร้องให้ยุติสงครามนี้เกิดขึ้นเร็วเกินไปในขณะที่สหรัฐฯ ยังมี “นโยบายที่เป็นปฏิปักษ์” ต่อเกาหลีเหนือ โดยเขาระบุว่าสหรัฐฯ ยังมีกองกำลังและอาวุธทั้งในเกาหลีใต้และในพื้นที่อื่นของภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา คิม โย จ็อง น้องสาวของนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ออกแถลงการณ์ระบุว่า การเรียกร้องให้ยุติสงครามเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่าชื่นชม เธอยังเสนอให้มีการหารือกับเกาหลีใต้ถึงประเด็นนี้ด้วย
หาประโยชน์จากความเห็นที่ไม่ตรงกัน
แม้แถลงการณ์ฉบับก่อนหน้าของเกาหลีเหนือจะเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเอเชียตะวันออก ซึ่งอาจเป็นคำขอที่เป็นไปไม่ได้ แต่ท่าทีของน้องสาวผู้นำเกาหลีเหนือดังกล่าวก็เพียงเรียกร้องให้เกาหลีใต้ปรับท่าทีต่อเกาหลีเหนือเท่านั้น
นายโก มย็อง ฮยุน นักวิจัยของสถาบัน Asan Institute for Policy Studies ระบุว่า แถลงการณ์ที่มีลักษณะขัดแย้งกันทั้งสองฉบับ แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือที่พยายามจะใช้ประโยชน์จากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้
เขาระบุว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือเป็นการเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ และเป็นการใช้ประโยชน์จากผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ที่ต้องการเริ่มเจรจากับเกาหลีเหนือใหม่ก่อนที่นายมุนจะหมดวาระลงในปีหน้า
นายโกระบุว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือครั้งนี้ “ฉลาดและมีความเสี่ยงต่ำ” กว่าการทดลองขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกล
ความเป็นไปได้ที่จะประกาศยุติสงครามเกาหลีเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เห็นไม่ตรงกัน แม้ส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งที่ไม่ปรากฎชัดก็ตาม
พลเรือตรีจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ เปิดรับการหารือความเป็นไปได้ในการประกาศยุติสงคราม
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดี นายมาร์ค แลมเบิร์ต รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการญี่ปุ่นและเกาหลี แสดงท่าทีที่สหรัฐฯ ยังไม่เต็มใจต่อการประกาศดังกล่าว โดยสหรัฐฯ กังวลว่า การกระทำใดๆ จะต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเกาหลีเหนือ และต้องไม่เป็นอันตรายต่อกองกำลังของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ หรือต่อความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้
ข้อเรียกร้องที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้หลายชุดได้เรียกร้องเป็นระยะให้มีการดำเนินการเพื่อยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ โดยการประกาศยุติสงครามหรือการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพ
สงครามเกาหลีเกิดขึ้นช่วงปีค.ศ. 1950-1953 และยุติลงด้วยการประกาศพักรบ นับแต่นั้นมา สหรัฐฯ ยังคงตรึงกองกำลังขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการอยู่ราว 28,500 คน
ผู้สนับสนุนการยุติสงครามระบุว่า การประกาศยุติสงครามจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นสำหรับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ระบุว่า การประกาศดังกล่าวจะเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่ง และอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้สั่นคลอน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวช่วยรักษาสภานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีมาได้ถึง 70 ปีแล้ว
แนวคิดยุติสงครามได้รับความสนใจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยพลเอกวินเซนต์ บรูกส์ อดีตพลเอกของสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ ระบุว่า การประกาศยุติสงครามจะเป็นก้าวแรกสู่การสาน “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบปกติ” กับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตามความเป็น พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้ก็อาจได้รับความเสี่ยงไปด้วย
การเจรจาที่หยุดชะงัก
ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า จะมีการประกาศยุติสงครามระหว่างการประชุมสุดยอดระหว่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อปีค.ศ. 2019
อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวกลับยุติลงอย่างกะทันหัน หลังสหรัฐฯ ไม่รับข้อเสนอของเกาหลีเหนือในการลดอาวุธนิวเคลียร์บางส่วนเพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษส่วนใหญ่ ต่อมาในปีเดียวกัน การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือก็ล้มเหลวลง
นับแต่นั้นมา เกาหลีเหนือก็ปฏิเสธการหารือกับสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเสนอโอกาสเพื่อการเจรจาหลายครั้งแล้วก็ตาม
รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน ระบุว่า จะดำเนินการทางการทูตต่อเกาหลีเหนืออย่างรอบคอบ และจะเปิดรับข้อตกลงหากช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างสองฝ่ายได้ อย่างไรก็ตาม พลเอกแลมเบิร์ตระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้รับการตอบสนองจากเกาหลีเหนือต่อข้อเสนอขอเจรจาเลย
นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งคำถามว่า รัฐบาลของนายไบเดนมีท่าทีเชิงรุกมากพอในการขอเจรจากับเกาหลีเหนือหรือไม่ โดยพวกเขาเห็นว่า สหรัฐฯ อาจกลับไปใช้นโยบาย “อดกลั้นทางยุทธศาสตร์” ที่เคยใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเป็นนโยบายที่ค่อยๆ เพิ่มแรงกดดันไปยังเกาหลีเหนือเพื่อให้เกาหลีเหนือกลับมาเข้าร่วมโต๊ะเจรจา อย่างไรก็ตาม พลเอกแลมเบิร์ตยืนยันว่า สหรัฐฯ จริงจังต่อการเจรจาครั้งนี้มาก
สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ยังคงแนบแน่น
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกาหลีเหนือจะหาประโยชน์จากความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้หรือไม่
แม้ผู้นำเกาหลีใต้จะเรียกร้องให้มีการเดินหน้า เช่น การประกาศยุติสงคราม หรือการฟื้นฟูโครงการเศรษฐกิจระหว่างสองเกาหลี แต่เขาก็ยังไม่แสดงท่าทีเคลื่อนไหวหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
พลเอกแลมเบิร์ตระบุว่า แม้สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะมีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันด้านยุทธวิธี แต่เขาก็เห็นว่า ทั้งสองประเทศไม่น่าจะเดินไปคนละทางโดยสิ้นเชิง