‘เซเลนสกี’ ชี้ ความพ่ายแพ้ของรัสเซียจะสอนว่า ‘การรุกรานจะไม่นำมาซึ่งผลลัพธ์ใด ๆ’

  • VOA

สภาพความเสียหายในเมืองดนิโปร ยูเครน หลังการโจมตีโดยรัสเซีย เมื่อ 26 ก.พ. 2567

ยูเครนรายงานในวันอังคารว่า รัสเซียยังเดินหน้าส่งโดรนและขีปนาวุธเข้าโจมตีตนในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา หลังประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ร่วมประชุมกับผู้นำยุโรปเพื่อหารือการขอความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติม

กองทัพอากาศยูเครนเปิดเผยว่า รัสเซียส่งโดรน 13 ลำและยิงขีปนาวุธ 5 ลูกเข้ามาโจมตีเขตปกครองคาร์คิฟ ซูมี ดนิโปรเปตรอฟสก์ คเมลนิตสกี และคิโรโวห์ราด และระบบต่อต้านการโจมตีทางอากาศสามารถยิงโดรน 11 ลำและขีปนาวุธ 2 ลูกตกลงไปได้

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการโจมตีระลอกล่าสุดนี้ออกมา ขณะจัดทำรายงานข่าวนี้

และในการแถลงข่าวรายวันเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ปธน.เซเลนสกี ระบุว่า การประชุมร่วมกับผู้นำจากยุโรปที่ตนเข้าร่วมมีการหารือประเด็นคลังแสงของยูเครน ความสามารถของประเทศในการผลิตอาวุธ การจัดส่งอาวุธจากพันธมิตรต่าง ๆ ให้กับยูเครน และการเดินหน้าการสนับสนุนยูเครนในการรับมือการรุกรานของรัสเซีย

ผู้นำยูเครนกล่าวว่า “ทุกอย่างที่เราทำร่วมกันเพื่อป้องกันการรุกรานของรัสเซีย ช่วยเสริมสร้างให้ประเทศของพวกเรามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ยังมาไม่ถึง” และว่า “เพราะว่า การสูญเสียแต่ละครั้งของรัสเซีย และความปราชัยแต่ละครั้งของรัสเซีย สอนรัสเซียและศัตรูอื่น ๆ ของยุโรปและโลกเสรีว่า การรุกรานนั้นไม่ได้และจะไม่นำมาซึ่งผลลัพธ์ใด ๆ (ดังหวัง)”

Your browser doesn’t support HTML5

ชาติตะวันตกเร่งแผนส่งอาวุธ-รุดหาทางสู่สันติภาพยูเครน

ในการประชุมที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอ็ล มาคร็อง เป็นเจ้าภาพและมีผู้นำและตัวแทนจากกว่า 20 ประเทศในยุโรปเข้าร่วมในวันจันทร์ที่กรุงปารีส ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวว่า “รัสเซียจะไม่สามารถและจะต้องไม่ได้ชัยในสงคราม”

มาคร็องยังกล่าวด้วยว่า ขณะที่ ยังไม่มีแผนส่งทหารจากชาติตะวันตกเข้าร่วมต่อสู้ในยูเครนในเวลานี้ ความน่าจะเป็นของรูปการณ์ดังกล่าวนั้นยังคงอยู่ และระบุในระหว่างการแถลงข่าวว่า “ไม่ได้มีฉันทามติใด ๆ ในวันนี้เกี่ยวกับการส่งกองทหารที่ได้รับการรับรองและอย่างเป็นทางการเข้าสู่สนามรบ แต่ในแง่ของพลวัตนั้น ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว”

ผู้นำยุโรปหลายคนเห็นด้วยกับจุดยืนนี้ โดยหนึ่งในนั้นคือ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี ซึ่งกล่าวว่า “สิ่งที่เราตกลงกันตั้งแต่ต้นในกลุ่มพวกเรายังคงมีผลต่อไปในอนาคต ซึ่งก็คือ จะไม่มีทหารจากรัฐใดในยุโรปหรือรัฐใดที่เป็นสมาชิกนาโต้ ไปยืนอยู่บนผืนดินของยูเครน”

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเพเทรอ พาเวล แห่งสาธารณรัฐเช็กและนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ แห่งโปแลนด์ ต่างกล่าวว่า รัฐบาลของตนจะไม่ส่งทหารหรืออาวุธให้กับยูเครน ส่วนปีเตอร์ ซิยาร์โต รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี ระบุในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลปูดาเปสต์จะไม่ส่งทหารหรืออาวุธให้ยูเครนเช่นกัน

  • ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์