เซเลนสกี: การจัดเลือกตั้งในภาวะสงคราม ‘ไร้ซึ่งความรับผิดชอบอย่างที่สุด’

ภาพหน้าต่างอาคารในเมืองโอเดสซา ประเทศยูเครน ที่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า การจะหารือประเด็นเลือกตั้งในยูเครนในช่วงที่ยังเกิดสงครามอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ “ไร้ซึ่งความรับผิดชอบอย่างที่สุด”

เซเลนสกี กล่าวว่า “เราต้องระลึกไว้ว่า นี่คือช่วงเวลาของการป้องกัน ช่วงเวลาของการรบที่มีความสำคัญต่อชะตาชีวิตของประเทศและผู้คนของเรา” และว่า “ผมเชื่อว่า การเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้”

ผู้นำยูเครนกล่าวว่า ประเด็นสำคัญก็คือ การใส่ใจต่อประเด็นความท้าทายที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่ ขณะที่ กองกำลังกรุงเคียฟพยายามขับไล่กองทัพรัสเซียที่ควบคุมพื้นที่เกือบ 1 ใน 5 ของยูเครนเอาไว้มากกว่า 20 เดือนแล้ว

การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ถูกสั่งห้ามภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึกที่บังคับใช้อยู่ในยูเครน แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีก็เคยพิจารณาว่า จะมีการประกาศบทบัญญัติพิเศษเพื่อให้มีการเลือกตั้งได้ ซึ่งรวมความถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ช่วยออกค่าใช้จ่ายของกระบวนการนี้

ทั้งนี้ เซเลนสกีเองก็เคยกล่าวได้ว่า จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน กล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เซเลนสกีกำลังชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียของการจัดการเลือกตั้ง ในช่วงที่มีสงครามนี้อยู่

รายงานข่าวระบุว่า มีเสียงเรียกร้องจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงจาก ลินด์ซีย์ แกรห์ม ส.ว.สหรัฐสังกัดพรรครีพับลิกัน ให้ยูเครนจัดการเลือกตั้งเพื่อจะได้มีหลักฐานที่แสดงถึงการปฏิรูปของสถาบันประชาธิปไตยของประเทศ

แฟ้มภาพ - โอลฮา สเตฟฟานิชีนา รองนายกรัฐมนตรียูเครน ขณะร่วมงานของสภานวัตกรรมยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565


ในเวลานี้ ยูเครนตั้งความหวังว่า จะได้รับผลการประเมินเชิงบวกจากสหภาพยุโรป สำหรับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ตามการเปิดเผยของ โอลฮา สเตฟฟานิชีนา รองนายกรัฐมนตรียูเครนที่บอกกับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์

ยูเครนคาดว่า รายงานการประเมินของอียูน่าจะออกมาในวันพุธ ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่า จะเริ่มมีการหารืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยูเครนของยูเครนในเดือนธันวาคมหรือไม่

ในทางปฏิบัติแล้ว การหารือการเข้าเป็นสมาชิกอียูนั้นมักใช้เวลาหลายปี โดยประเทศผู้สมัครจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและกฎหมายมากมายก่อนจะสามารถเป็นสมาชิกได้

ปัจจุบัน อียูมีสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศและไม่ได้ยินดีที่จะรับสมาชิกใหม่ที่กำลังอยู่ในภาวะสงคราม

  • ที่มา: รอยเตอร์