วิเคราะห์: ภารกิจที่รออยู่ของ "เจเน็ต เยลเลน" ว่าที่ขุนคลังหญิงคนเเรกของสหรัฐฯ

FILE - Federal Reserve Chair Janet Yellen listens to introductions as she is awarded the Paul H. Douglas Award for Ethics in Government, on Capitol Hill in Washington, Nov. 7, 2017.

Your browser doesn’t support HTML5

Former Fed Yellen Bidens Treasury Secretary


นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ที่ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯคนต่อไป ภายใต้รัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีประวัติการทำงานทั้งงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลในอดีตและด้านนโยบายการเงินของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Federal Reserve)

เจเน็ต เยลเลน วัย 74 ปีในฐานะอดีตประธานเฟดและอดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจยุคอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน กำลังเผชิญกับภารกิจสำคัญภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ขณะที่เศรษฐกิจอเมริกันกำลังถูกรุมเร้าโดยผลกระทบจากการระบาดของโคโรนาไวรัส

หากได้รับอนุมัติในขั้นตอนกลั่นกรองของสภา เธอจะกลายเป็นสตรีคนเเรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ

ในฐานะรัฐนตรีคลังงานส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยการเมืองและกระบวนการต่างๆ ที่ต้องทำงานกับสมาชิกสภาคองเกรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้เกิดความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายการเมืองของพรรคเดโมเเครตและรีพับลิกัน

สำหรับงานสำคัญในอดีตของเธอที่คล้ายกับงานใหญ่ตรงหน้า นางเยลเลน เคยสนับสนุนมาตรการที่ช่วยคำ้จุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายหลังวิกฤตเมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งในตอนนั้นเฟดดำเนินมาตรการมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

คาดว่าเธอมีความคิดที่สอดคล้องกับว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ที่ต้องการเห็นการออกความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อเจ้าของกิจการขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องล้มละลาย

เธอจะต้องรับไม้ต่อจากรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน นายสตีฟ มนูชิน ที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างตึงเครียดกับประธานเฟด คนปัจจุบัน นายเจอโรม พาวเวลล์

กล่าวคือ รัฐมนตรีมนูชิน ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์​ทรัมป์​ตัดสินให้ยกเลิกโครงการให้เงินกู้ฉุกเฉิน ที่อยู่ในการบริหารของเฟด ซึ่งการตัดสินใจของนายมนูชิน ทำให้นายพาวเลล์แสดงความเห็นคัดค้าน

Janet Yellen, president of the Federal Reserve Board, and U.S. Treasury Secretary Steven Mnuchin talk to each other during the G20 finance ministers meeting in Baden-Baden, Germany, March 17, 2017.

นางเจเน็ต เยลเลนเองถือว่าเป็นผู้เจนจัดในวงการนยบายเศรษฐกิจอเมริกันมานานหลายสิบปี

เธอเป็นสมาชิกของคณะกรรมการเฟด ที่ประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารกลางภูมิภาคต่างๆ ช่วงปี ค.ศ. 1994 ถึง ค.ศ. 1997 ภายใต้การนำของ นายอลัน กรีนสแปน ประธานเฟดในยุคนั้น

หลังจากนั้น นางเยลเลน รับตำแหน่งทางการเมืองสมัยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งมอบหมายให้เธอทำหน้าสำคัญเรื่องการให้คำปรึกษาด้านนโยบาย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2004 เธอหวนกลับมาทำงานด้านนโยบายการเงินให้กับเฟด ในตำแหน่งซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกลางเขตซานฟรานซิสโก

เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารประเทศ เขาแต่งตั้งให้นางเยลเลน เป็นประธานเฟด ช่วงปี ค.ศ. 2014 ถึง ค.ศ. 2018 ถือเป็นจุดสูงสุดในเส้นทางอาชีพของเธอ

Obama Federal Reserve

ในปีเเรกที่เธอดำรงตำแหน่งประธานเฟด สหรัฐฯเข้าสู่ปีที่ 6 หลังวิกฤตเศรษฐกิจ นางเยลเลนต้องรักษาสมดุลระหว่างการช่วยพยุงเศรษฐกิจและการควบคุมไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ

นางเยลเลนจึงค่อยๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2015 ซึ่งก่อนหน้านี้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ใกล้ระดับศูนย์เปอร์เซนต์มาหลายปี เธอยังค่อยๆ ให้เฟดขายสินทรัพย์ที่เคยรับซื้อไว้เพื่อพยุงเศรษฐกิจก่อนหน้านี้

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเธอมองว่านางเยลเลนผ่อนคลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช้าเกินไป และนักวิจารณ์มองว่าเเนวทางของเธออาจทำให้เกิดเงินเฟ้อได้

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มิได้เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และเมื่อนางเยลเลนหมดหน้าที่จากเฟดเมื่อ 2 ปีก่อน อัตราคนว่างงานของสหรัฐฯอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งถือว่าตำ่สุดในรอบเกือบ 20 ปี

สำหรับประวัติส่วนตัวและประวัติการศึกษา เจเน็ต เยลเลนเติบโตที่เขตบรูคลิน ของนครนิวยอร์ก เธอมีผลการเรียนเป็นที่หนึ่งของโรงเรียนรัฐในชั้นมัธยมปลาย ก่อนที่จะเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบราวน์ และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล

เธอยังเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์คลีย์​ และมหาวิทยาลัย London School of Economics

นางเยลเลนสมรสกับ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบล นายจอร์จ เอเคอร์ลอฟ โดยเขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในกรุงวอชิงตัน