Your browser doesn’t support HTML5
หลังจากที่วีโอเอไทยได้นำเสนอเรื่องราวของ แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) ชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ที่ทำสารคดีสั้นเรื่อง “ยายนิล” เกี่ยวกับคุณยายของเขา ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ในสหรัฐฯ มาแล้วนั้น ในตอนที่สองนี้ วีโอเอมีรายงานเกี่ยวกับการตอบรับของผู้ชมต่อสารคดี "ยายนิล" หลังจากการฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในสหรัฐฯ
“ยายนิล” เป็นสารคดีที่ผลิตและกำกับโดย แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ชายหนุ่มเชื้อสายไทยในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ที่เล่าเรื่องราวของ นิลวรรณ ภิญโญ คุณยายวัย 85 ปี เจ้าของกิจการแหนมและหมูยอที่เป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดเชียงใหม่
สารคดีความยาว 13 นาที หยิบยกเอาบางส่วนของชีวิตยายนิลมาเล่า เพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทของหญิงวัย 85 ปี ที่เป็นทั้งแม่ และยาย เป็นนักธุรกิจที่ดูแลกิจการและคนงานหลายสิบคนด้วยตัวเอง และเป็นเสาหลักสำคัญของครอบครัว หลังจากที่สูญเสียสามีไป ในขณะที่ลูกหลานส่วนใหญ่ อยู่ไกลถึงเมืองสโปแคน (Spokane) รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
สารคดีเรื่องยายนิลออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ Seattle Asian American Film Festival ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา และในการฉายรอบพรีเมียร์นั้นเอง ยายนิล ก็คว้ารางวัล Best Documentary Short หรือสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมไปได้ ซึ่งแชมป์ ผู้ใช้เวลาสองปีครึ่งในการทำสารคดีเรื่องนี้ บอกว่าเป็นเรื่องที่พิเศษมาก ๆ สำหรับตัวเอง เพราะมีครอบครัวและเพื่อน ๆ มานั่งดูด้วย และยังเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เคยสร้างแรงบันดาลใจให้แชมป์มาก่อน
“เราชนะรางวัลสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมในเทศกาล Seattle Asian American Film Festival 2020 ซึ่งเป็นสิ่งที่เยี่ยมมาก ๆ ครับ นั่นเป็นการฉายครั้งแรก แล้วก็ได้รางวัลเลย เป็นเรื่องที่พิเศษมาก ๆ” แชมป์กล่าวกับวีโอเอ
หลังจากนั้น ชายหนุ่มเชื้อสายไทยวัย 32 ปีได้นำสารคดีไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์และสารคดีอื่นๆ อีกสิบกว่าเทศกาลทั่วสหรัฐฯ และคว้ารางวัลสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมเพิ่มเติมจากเทศกาล DC Asian Pacific American Film Festival 2020, Local Sightings Film Festival 2020 และรางวัล Programmers Choice, Documentary Short จากเทศกาล Bushwick Film Festival 2020 ในนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตามมีเพียง สองเทศกาลแรกเท่านั้นที่มีการฉายแบบปกติ ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เกิดการล็อคดาวน์ เทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถูกยกเลิก หรือเปลี่ยนรูปแบบเป็นการฉายและการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ชมทางออนไลน์
“เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกันที่เทศกาลภาพยนตร์เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการในการรับมือการระบาด...แต่ถึงอย่างนั้นผมก็รู้สึกดีใจมากที่มีผู้ชมและคนทำหนังชาวเอเชียนอเมริกันหลายคนที่รู้สึกซาบซึ้ง และมีความรู้สึกร่วมไปกับสารคดียายนิล”
Your browser doesn’t support HTML5
“ผมคิดว่าสารคดีเรื่องยายนิลโดนใจพวกเขาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับคนรุ่นปู่ย่าตายายโดยเฉพาะในสังคมเอเชียนอเมริกัน ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคนดูเชื้อสายเอเชียที่รู้สึกว่าประเด็นที่โดนใจพวกเขา คือเรื่องของการเติบโตมาในครอบครัวผู้อพยพในสหรัฐฯ ที่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาสายสัมพันธ์กับญาติที่น้องในเอเชีย ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทบจิตใจหลายคน”
นอกจากการนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตคุณยาย ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว สารคดีเรื่องยายนิล ยังเป็นโอกาสให้แชมป์ได้ถ่ายทอดภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยชาวเอเชีย ที่หลายคนยังมีความแอคทีฟ มีทัศนคติเชิงบวก
เขามองว่าในยุคปัจจุบัน ปู่ย่าตายายหลายคนต้องอยู่ตัวคนเดียว หรือห่างไกลจากลูกหลาน แต่ก็ยังมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุขและสงบตามอัตภาพ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ มักจะไม่ใช่ภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยชาวเอเชียที่สื่ออเมริกันนำเสนอ
ผู้ที่สนใจ สามารถรับชมสารคดีเรื่องยายนิลได้จากเว็บไซต์ yainindoc.com
และถึงแม้จะได้นำสารคดีเรื่องแรกในชีวิตไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในสหรัฐฯ แต่แชมป์บอกว่าความฝันของเขาคือการได้นำสารคดีเรื่องยายนิลไปฉายในโรงภาพยนตร์ที่กรุงเทพและเชียงใหม่ จังหวัดบ้านเกิด และหวังว่าจะทำให้คนดูได้นึกถึงคุณย่าคุณยาย ผู้มีบทบาทสำคัญในครอบครัวไทย