Your browser doesn’t support HTML5
จากฮ่องกงถึงโบลิเวีย และตั้งแต่ฝรั่งเศสไปถึงเลบานอน ปี 2019 ถือเป็นหนึ่งในปีที่การประท้วงลุกลามไปในหลายประเทศแทบทุกทวีป ซึ่งแต่ละประเทศก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป
การประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เริ่มจากกลุ่มประชาชนรายได้ต่ำในชนบท ลุกลามไปทั่วประเทศและนำไปสู่การปิดถนนในหลายเมืองใหญ่ กลายเป็นการประท้วงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มาจนถึงการประท้วงหยุดงานในกรุงปารีสเพื่อต่อต้านแผนปฏิรูประบบเงินบำนาญของรัฐบาลฝรั่งเศสในช่วงปลายปี
SEE ALSO: ชาวฝรั่งเศสโอดประท้วงป่วนการคมนาคมช่วงคริสต์มาส
ที่กรุงมอสโก รัสเซีย ผู้ประท้วงต่างโกรธเคืองจากการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ที่อังกฤษ ประชาชนต่างเดินขบวนต่อต้านการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ส่วนที่สเปน ชาวคาตาลันปะทะกับตำรวจขณะเดินขบวนเรียกร้องการแยกตัวออกจากสเปน เช่นเดียวกับที่เซอร์เบีย ยูเครน อัลแบเนีย ล้วนเผชิญกับการเดินขบวนครั้งใหญ่เช่นกัน
โดยนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า ปี 2019 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีความคล้ายคลึงกับปี 1848 เมื่อชนชั้นผู้นำและราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรปต้องรับมือกับความวุ่นวายและความเดือดดาลของประชาชนจนนำไปสู่การโค่นล้มระบอบกษัตริย์
ข้ามไปที่อเมริกาใต้ ชิลี โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เปรู เวเนซุเอลา และเอกัวดอร์ รัฐบาลล้วนต้องรับมือกับกลุ่มผู้ประท้วงที่เดือดดาลทั้งจากความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ที่ตะวันออกกลาง ประชาชนชาวเลบานอนเริ่มการประท้วงเพราะไม่พอใจที่รัฐบาลเก็บภาษีแอพพ์ส่งข้อความ WhatsApp ก่อนที่จะลุกลามไปเป็นการต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น ส่วนที่อิหร่าน ประชาชนเดินขบวนต่อต้านราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 300% นำไปสู่การปราบปรามที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน
ทางด้านเอเชีย ไม่มีจุดไหนที่ร้อนไปกว่าฮ่องกง ซึ่งเกิดการประท้วงต่อเนื่องนานกว่า 7 เดือน เพื่อต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ และเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้เกิดความชะงักงันต่อศูนย์กลางการค้าและการเงินของเอเชียแห่งนี้
SEE ALSO: แนวร่วมข้ามชาติ! นักศึกษาเกาหลีใต้หนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง
และที่อินเดีย การประท้วงกฎหมายสถานะพลเมืองฉบับใหม่ ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนต่างศาสนาในประเทศนี้
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การประท้วงในปี 2019 มีความคล้ายคลึงกันบางอย่าง คือความไม่พอใจที่นำไปสู่การเรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ศาสนา หรือเศรษฐกิจ รวมทั้งต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่นและความไม่เท่าเทียม
SEE ALSO: กฎหมายสถานะพลเมืองอินเดีย: จาก 'จุดบอด' สู่ 'จุดเดือด' สะเทือนรัฐบาล ‘โมดี’
นักวิเคราะห์บางคนพยายามหาคำอธิบายจุดร่วมในวิธีการของผู้ประท้วงแต่ละประเทศ เช่นการปิดถนน หรือการเดินขบวน ที่มักถูกนำมาใช้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แม้ว่าในที่สุดแล้ว แนวทางของแต่ละประเทศ แต่ละเมือง มักขึ้นอยู่กับบริบทของดินแดนนั้น ๆ
แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างแท้จริง คือความต้องการอย่างแรงกล้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ถึงกระนั้น สิ่งที่แตกต่างไปจากการประท้วงในอดีต คือการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่เนื้อหาที่ยิ่งทำให้เกิดความโกรธแค้น การปลุกระดมและการจัดตั้งกลุ่มผู้ต่อต้านผู้มีอำนาจ