พรรคฝ่ายค้านหลักของอินเดียเริ่มการประท้วงเงียบในกรุงนิวเดลีในวันจันทร์ เพื่อต่อต้านกฎหมายสถานะพลเมืองฉบับใหม่ หนึ่งวันหลังจากที่นายกรัฐมนตรี นเรนธรา โมดี ออกมาปกป้องกฎหมายดังกล่าวระหว่างการปราศรัยที่กรุงนิวเดลี และกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านว่าพยายามทำให้เกิดกระแสความหวาดกลัวไปทั่วประเทศ
การประท้วงที่นำโดยนางซอนยา คานธี หัวหน้าพรรคคองเกรส เกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนอินเดียหลายหมื่นคนเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวที่ถูกมองว่าเป็นความพยายามของนายกฯ โมดี ในการลดความสำคัญของชาวมุสลิมในอินเดียที่มีจำนวนราว 200 ล้านคน
ด้านนายราหุล คานธี อดีตหัวหน้าพรรคคองเกรส ออกมาช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ในอินเดียออกมาเดินขบวนประท้วงกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียใช้มาตรการเด็ดขาดในการปราบปรามผู้ประท้วง โดยจนถึงขณะนี้คาดว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 23 คน นับตั้งแต่เกิดการประท้วงทั่วประเทศเมื่อต้นเดือนธันวาคม โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐอุตตรประเทศ ที่ซึ่งมีประชากรมุสลิมราว 40 ล้านคน
ขณะเดียวกันมีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายรัฐเพื่อควบคุมการปลุกระดมผ่านออนไลน์ รวมทั้งที่รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐอัสสัม และในกรุงนิวเดลี
กฎหมายสถานะพลเมืองฉบับใหม่ของอินเดียกำหนดไว้ว่า ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และบังกลาเทศ ที่นับถือศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาหลักในประเทศเหล่านั้นรวม 6 ศาสนา เช่น ฮินดู ซิกห์ และคริสต์ จะได้รับสถานะพลเมืองอินเดียเร็วขึ้น แต่ไม่รวมอิสลาม
รัฐบาลอินเดียปฏิเสธว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม แต่เป็นเพราะชาวมุสลิมไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในประเทศเหล่านั้นซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม
บรรดาองค์กรอิสลาม กลุ่มสิทธิมนุษยชน และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ต่างต่อต้านกฎหมายฉบับนี้โดยบอกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม และว่าเป็นความพยายามของนายกรัฐมนตรีนเรนธรา โมดี ที่ต้องการลดความสำคัญของศาสนาอิสลามในอินเดีย ซึ่งนายกฯ โมดี ได้ออกมาปฏิเสธ
ชาวมุสลิมในอินเดียจำนวนมากต่างบอกว่าพวกตนรู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง หลังจากที่นายกฯ โมดี ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ขึ้นสู่ตำแหน่งเมื่อ 5 ปีก่อน และชนะเลือกตั้งครั้งที่สองในปีนี้
ขณะที่สมาชิกพรรคผ่านค้านบางคนบอกว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ต่างจากกฎหมายต่อต้านชาวยิวที่พรรคนาซีเยอรมันเคยนำมาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง