ส่องท่าทีนานาชาติต่อความบาดหมางสหรัฐฯ-จีน

เยอรมนีเตือนความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ อาจพาโลกเข้าสู่ “สงครามเย็น 2.0” ขณะที่นานาชาติเรียกร้องให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างกัน ตามรายงานของ Associated Press

รัฐบาลเยอรมนี ยังคงต้องการรักษาความร่วมมือด้านการค้าและการแก้ปัญหาโลกร้อนกันทั้งสองชาติ แต่ได้แสดงความกังวลถึงการบังคับใช้กฏหมายความมั่นคงกับฮ่องกง ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ไฮโค มาส (Heiko Maas) ได้กล่าวในแถลงการณ์หลังหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญในเวลาเดียวกัน

ด้านปีเตอร์ เบเยอร์ ผู้ประสานงานฝ่ายความร่วมมือทรานส์แอตแลนติกของรัฐบาลเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเยอรมนีว่า โลกกำลังเผชิญกับช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ คือพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีนอกกลุ่มอียู และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป

ฝั่งฝรั่งเศส แม้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง จะเรียกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯว่าเป็นเพื่อนของตน แต่กลับเลี่ยงที่จะแสดงท่าทียั่วยุกับฝั่งจีนด้วยเช่นกัน โดยฝรั่งเศสไม่หนุนการวิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ในการรับมือโคโรนาไวรัส โควิด-19 แต่รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ได้ประณามการใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมอุยกูร์ เมื่อสัปดาห์ก่อน

ในมุมมองของวาเลรี นิเคว็ต จาก Foundation for Strategic Research เห็นว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่ได้ส่งผลดีต่อฝรั่งเศสแต่อย่างใด

ส่วนยุโรปโดยรวม ประเด็นของจีนได้สร้างความสั่นคลอนระหว่างประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปอย่างเห็นได้ชัด จากที่ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปกับจีนกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันภายใน 27 ชาติของอียู โดยโจเซฟ บอร์เรลล์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป บอกว่า ประเด็นของจีนจะทำให้สหภาพยุโรปต้องพิจารณาท่าทีระหว่างกันอีกครั้ง จากความเห็นต่างกันเกี่ยวกับท่าทีของอียูกับจีน

ขยับไปที่เกาหลีใต้ ที่ได้รับผลกระทบหนักจากความบาดหมางระหว่าง 2 ชาติ ทั้งความเป็นพันธมิตรด้านการทหารและการเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเกาหลีใต้ โดยบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ Dong-A Ilbo เมื่อวันจันทร์ ระบุว่า ความข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้โยนคำถามมายังเกาหลีใต้ให้ต้องเลือกฝั่ง และไม่ช้าก็เร็ว เกาหลีใต้จะเป็นถูกกดดันให้เลือกข้าง แม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงแค่ไหนก็ตาม

ส่วนที่อินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้พยายามรักษาความสัมพันธ์กับผู้นำสหรัฐฯและจีนมาโดยตลอด แต่ด้วยเหตุปะทะบริเวณพรมแดนจีน-อินเดีย เมื่อเดือนมิถุนายน และสถานการณ์โควิด-19 ได้จุดกระแสต่อต้านจีนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการต่อต้านสินค้าจีนและแอพพลิเคชั่นดังของจีนรวมถึง TikTok ด้วย

จายาเดฟ เรเนด ประธาน Center for China Analysis ในกรุงนิวเดลี มองว่า ความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯและจีน นี่เป็นโอกาสสำหรับอินเดีย ที่สหรัฐฯจะใช้มาตรการกดดันจีนมากขึ้น ซึ่งจะได้แรงสนับสนุนจากประเทศในแถบเอเชียใต้ด้วยเช่นกัน

ถัดไปที่แอฟริกา ข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแอฟริกาอย่างเห็นได้ชัด โดยธนาคาร African Development Bank ได้เตือนว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนทำให้จีดีพีของกลุ่มประเทศในแอฟริการ่วงลงราว 2.5% และผู้นำเคนยา ได้เรียกร้องให้ 2 มหาอำนาจยุติความขัดแย้งกันในระยะนี้ เพื่อรับมือกับโคโรนาไวรัสเป็นสำคัญ

ส่วนประเทศในอาเซียน ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อความบาดหมางระหว่าง 2 มหาอำนาจ ซึ่งต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน โดยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตรเต แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวเพียงว่า การที่มหาอำนาจต่างพยายามแข่งขันกัน ก็จะพยายามดึงเราให้เลือกข้าง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับฟิลิปปินส์ทั้งสิ้น

โดยประเด็นการอ้างสิทธิ์ครอบครองพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ของจีนเป็นหนึ่งในประเด็นตึงเครียดที่สหรัฐฯให้น้ำหนักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งฟิลิปปินส์และเวียดนาม ต่างได้ประโยชน์จากท่าทีของสหรัฐฯในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เกร็ก โพลิง จาก Center for Strategic and International Studies ให้มุมมองว่า ประเทศเหล่านี้จะไม่ยอมแสดงท่าทีใดๆที่เป็นความเสี่ยงต่อประเทศจนกว่าจะได้เห็นท่าทีที่ชัดเจนจากรัฐบาลวอชิงตันเสียก่อน