เผยปฏิกิริยาทั่วโลก“ช็อค” เหตุบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เรียกร้องเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ 

Congress Protest

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันพุธ (6 ม.ค.) ผู้นำหลายประเทศต่างรู้แสดงปฏิกิริยาที่หลากหลายทั้ง ประหลาดใจและตกใจ หรือ “ช็อค” กับเหตุการณ์ที่ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในช่วงที่สมาชิกของสภาคองเกรส ทั้ง 2 สภาอยู่ในระหว่างการประชุมพิจารณารับรองผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ในวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยหวังผลการเลือกตั้ง ที่ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับชัยชนะ


โฆษกของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ผู้นำยูเอ็นรู้สึก “เสียใจ” กับเหตุการณ์ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐ

สตีเฟน ดูจาร์ริค โฆษกสหประชาชาติ ระบุในแถลงการณ์ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำทางการเมืองควรเชิญชวนให้ผู้สนับสนุนหยุดความรุนแรง รวมถึงเคารพกระบวนการทางประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

ขณะที่ เว็บไซต์สถานทูตจีนประกาศ เตือนชาวจีนให้เพิ่มความระมัดระวังต่อ “การชุมนุมขนาดใหญ่” ในกรุงวอชิงตัน รวมถึงประกาศห้ามออกจากบ้านของรัฐบาลท้องถิ่น

FILE PHOTO: FILE PHOTO: Indian Prime Minister Narendra Modi speaks to the media in New Delhi

ส่วนที่ อินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทวีตข้อความว่า รู้สึกเสียใจเมื่อเห็นข่าวการจลาจลและความรุนแรงในกรุงวอชิงตัน เขาเห็นว่า จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างเป็นระเบียบและอย่างสันติต่อไป กระบวนการทางประชาธิปไตยจะถูก “การประท้วงที่ผิดกฎหมาย” ล้มล้างไม่ได้

ด้าน นาย คัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะโฆษกรัฐบาล ระบุว่า จะไม่ขอแสดงความเห็นถึงท่าทีทางการเมืองของผู้นำสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่ญี่ปุ่นหวังว่า จะเห็นประชาธปิไตยในสหรัฐฯ ก้าวผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ได้ ได้ความสงบและได้ความสามัคคีกลับคืนมา รวมถึงได้เปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและเป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ฝรั่งเศส ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาคร็อง กล่าวในคลิปวิดีโอที่โพสทางทวิตเตอร์เป็นภาษาอังกฤษว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงวอชิงตันวันนี้ “ไม่ใช่ความเป็นอเมริกันอย่างแน่นอน” และเขาเชื่อมั่นในพลังของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ

เช่นเดียวกับ ปฎิกิริยาของ ผู้นำอังกฤษ นาย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทวีตข้อความว่า เหตุการณ์ที่อาคารัฐสหาสหรัฐฯ ถือเป็น “ความอัปยศ” ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลก และเป็นเรื่อง “จำเป็น” อย่างมากที่ควรมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและเป็นระเบียบ

ส่วนใน เยอรมนี ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า ความรุนแรงที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ คงเป็นที่พอใจของศัตรูในระบอบประชาธิปไตย และขอให้ “ทรัมป์และผู้สนับสนุนของเขา ต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกัน และหยุดเหยียบย่ำประชาธิปไตย”

ด้าน รัสเซีย นาย ดิมิทรี โพลยานสกี รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติ ทวีตข้อความกล่าวถึงงการประท้วงในยูเครนเมื่อปีค.ศ. 2013-2014 เทียบกับการประท้วงที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งในครั้งนั้นสหรัฐฯให้การสนับสนุนการประท้วงโค่นล้มประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยาโคโนวิช ที่รัสเซียให้การสนับสนุน

ด้าน เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ระบุว่า การประท้วงรุนแรงที่กรุงวอชิงตันเป็น “เรื่องน่าตกใจ” และระบุว่า ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ตามระบอบประชาธิปไตย ต้องได้รับการเคารพ

Spanish Prime Minister Pedro Sanchez delivers a speech during a session at the Lower Chamber of the Spanish Parliament in Madrid on April 22, 2020. - Spain has suffered the world's third-most deadly outbreak of the coronavirus, which has so far…


ส่วน นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปน ทวีตข้อความว่า เขากำลังติดตามข่าวจากกรุงวอชิงตันด้วยความกังวล และเขาเชื่อมั่นในพลังของประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เขายังระบุด้วยว่า ว่าที่ ปธน. ไบเดนจะก้าวข้ามช่วงเวลาตึงเครียด และทำให้คนอเมริกันสามัคคีกันได้

เช่นเดียวกับ ไซมอน โคฟนีย์ รัฐมนตรีต่างประเทศไอร์แลนด์ ระบุว่าเหตุการณ์ในกรุงวอชิงตันเป็นการ “จงใจทำลายประชาธิปไตยโดยประธานาธิบดีทรัมป์และผู้สนับสนุน เพื่อพยายามเปลี่ยนผลการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม” เขายังหวังว่าความสงบจะกลับคืนมาโดยเร็ว

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อความรุนแรง และเรียกร้องให้เกิดความสงบและ “การใช้สามัญสำนึก” ในขณะที่เตือนให้ชาวตุรกีหลีกเลี่ยงพื้นที่การประท้วง

ด้าน สหภาพยุโรป ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ทวีตข้อความแสดงความตกใจต่อเหตุการณ์ในกรุงวอชิงตัน โดยระบุว่า “อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของประชาธิปไตย เราเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติให้โจ ไบเดน ได้”

ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา วอน เดอ เลเยน ระบุว่า เธอเชื่อมั่นในพลังของสถาบันและประชาธิปไตยของสหรัฐฯ การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติคือหัวใจสำคัญ ไบเดนคือผู้ชนะเลือกตั้ง และเธอหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับเขาในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป

FILE PHOTO: Canadian Prime Minister Justin Trudeau listens while wearing a mask at a news conference in Ottawa

ส่วน นาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี แคนาดา กล่าวกับสถานีวิทยุ News 1130 Vancouver ว่า เขากังวลและติดตามสถานการณ์นาทีต่อนาที เขาคิดว่าสถาบันประชาธิปไตยของสหรัฐฯ นั้นแข็งแรง และหวังว่าทุกอย่างจะกลับคืนเป็นปกติโดยเร็ว

ขณะที่ สวีเดน นายกรัฐมนตรีสตีฟาน ลอฟเฟน ทวีตข้อความว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการ “โจมตีประชาธิปไตย” โดยเขาระบุว่า ปธน. ทรัมป์และสมาชิกสภาคองเกรสหลายคนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก กระบวนการประชาธิปไตยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องได้รับการเคารพ

รวมไปถึง นายกรัฐมนตรีเออร์นา ซอลเบิร์ก ของนอร์เวย์ ทวีตข้อความว่า นี่คือ “การโจมตีประชาธิปไตยสหรัฐฯ ที่รับไม่ได้” และ ปธน. ทรัมป์ ต้องรับผิดชอบหยุดเหตุการณ์นี้ ภาพที่เกิดขึ้นน่ากลัว และเธอไม่อยากเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ

ที่ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน ประณามการใช้ความรุนแรงในกรุงวอชิงตัน และหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอย่างสันติภายใต้ “ธรรมเนียมทางประชาธิปไตยอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ”

New Zealand's Prime Minister Jacinda Ardern speaks to the media about changing the 2020 election

ด้าน นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีหญิง จาซินดา อาร์เดิร์น ทวีตข้อความว่า ประชาธิปไตยคือการให้สิทธิ์ประชาชนเลือกตั้ง และเคารพการตัดสินใจของประชาชนอย่างสันติ และไม่ควรถูกทำลายโดยการประท้วง เธอส่งความปรารถนาดีไปยังทุกคนที่เสียใจกับเหตุการณ์ในวันนี้ และเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยจะชนะ

ขณะที่ เวเนซูเอลา จอร์จ อาร์เรียซา รัฐมนตรีต่างประเทศ ทวีตข้อความว่า เวเนซูเอลาแสดงความกังวลถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงวอชิงตัน ประณามการแบ่งขั้วทางการเมือง และหวังว่าชาวอเมริกันจะเปิดทางให้ความมั่นคงและความเป็นธรรมทางสังคม

ส่วน ที่อาร์เจนตินา ประธานาธิบดีอัลเบอร์โต เฟอร์นานเดซ ทวีตข้อความว่า เขาประณามการใช้ความรุนแรงและการบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เขาเชื่อมั่นว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ โดยเคารพความต้องการของคนส่วนมาก และขอสนับสนุนว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นอย่างเต็มที่