Wall Street Journal จัดอันดับการคมนาคมที่รวดเร็วที่สุดในโลก ทั้งที่ยังเป็นโครงการแห่งอนาคต และเที่ยวบินที่ให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว
Boeing Next Hypersonic Concept – ยังไม่มีการระบุที่นั่งโดยสารที่ชัดเจน แต่คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จก่อนปี ค.ศ. 2029 หรืออีก 10 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งหากออกมาให้บริการได้ จะเป็นเที่ยวบินความเร็วกว่าเสียง ที่ทำความเร็วแตะระดับ Mach 5 หรือ 3,400 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 5,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไต่ระดับความสูงที่ 100,000 ฟุต สูงกว่าระดับเที่ยวบินพาณิชย์ทั่วไป
Boom Overtune – ความร่วมมือระหว่าง Japan Airlines และเครือ Virgin Group ที่พัฒนาเที่ยวบินความเร็วสูง 1,451 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 2,300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยที่นั่งโดยสารเพียง 55 ที่นั่ง ที่เตรียมเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2019 นี้ ซึ่งเส้นทางแรกที่จะเปิดให้บริการ คือ เที่ยวบินจากซานฟรานซิสโกไปยังกรุงโตเกียว ที่จะลดเวลาการบินลงไปได้ 4 ชั่วโมง จาก 9 ชั่วโมงครึ่ง เหลือเพียง 5 ชั่วโมงครึ่ง
Concorde – เที่ยวบินแรกที่บุกเบิกเที่ยวบินความเร็วสูง เริ่มต้นเที่ยวบินแรกเมื่อ 2 มีนาคม ค.ศ. 1969 ก่อนจะยุติการให้บริการไปเมื่อ 24 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2003 ด้วยที่นั่งโดยสาร 100 ที่นั่ง 1,350 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 2,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเฉพาะเส้นทางจากมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ไปยังกรุงปารีสของฝรั่งเศส เที่ยวบินนี้ร่นเวลาการบินเหลือเพียง 3 ชั่วโมง สนนราคาไป-กลับแรงกว่าความเร็วที่ 10,000 ดอลลาร์ หรือราว 320,000 บาท
Shanghai Maglev – รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงเขตเมืองของนครเซี่ยงไฮ้ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ ซ่างไห่ผู่ตง ในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน รองรับผู้โดยสาร 574 คน เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2004 ทำความเร็ว 267 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่นเท่ากับว่าเส้นทางจากตัวเมืองไปยังสนามบิน จะกินเวลาเพียง 7 นาทีเท่านั้น
Francisco – เรือเฟอร์รีความเร็วไฮสปีด รองรับผู้โดยสาร 950 ที่นั่ง ทำความเร็ว 64 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 103 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมเส้นทางจากมอนเตวิเดโอ อุรุกวัย และบัวโนส ไอเรส ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเส้นทางด่วนพิเศษสำหรับสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาโธลิก