อุปกรณ์การศึกษาใหม่ๆ ถูกสรรค์สร้างขี้นมามากมายเพื่อช่วยให้บรรดาคุณครูได้นำไปปรับปรุงพัฒนาการการเรียนการสอนในชั้นเรียน มีการใช้องค์ประกอบของวิดีโอเกมเพื่อทำให้นักเรียนหันมาสนใจและมีส่วนร่วมในวิชาที่เรียนรู้มากขึ้น
โรงเรียน Dag Hammarskjold Middle School ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นใน Wallingford รัฐ Connecticut เป็นโรงเรียนหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยนักเรียนจะร่วมทำกิจกรรมการศึกษาที่มีลักษณะคล้ายกับวิดีโอเกมยอดนิยมบนอินเทอร์เน็ตเช่น “Fortnite”
เด็กนักเรียนจะแข่งขันกันสะสมคะแนนเพื่อปลดล็อกพลัง เสื้อผ้า และสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้เล่นในเกม
กิจกรรมดังกล่าวจะแตกต่างจากวิดีโอเกมทั่วไปตรงที่นักเรียนไม่ได้ต่อสู้กันเอง แต่ครูจะเป็นผู้ใช้เกมนี้เพื่อสอนวิชาต่างๆ นักเรียนจะได้คะแนนสะสม เมื่อสามารถผ่านระดับการศึกษาขั้นต่างๆ ในเกมนี้
Caiden McManus นักเรียนอายุ 13 ปีที่โรงเรียนมัธยม Dag Hammarskjold กล่าวว่า เขารู้สึกสนุกสนานกับการเรียนหนังสือในรูปแบบเกมนี้ และว่าการทำงานกับสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนที่เขาโปรดปรานที่สุดเพราะช่วยให้เขาก้าวหน้าได้รวดเร็วขึ้น และการฝึกสัตว์เลี้ยงนี้นักเรียนสามารถสะสมทองคำได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
Gianna Gurga คุณครูที่โรงเรียนมัธยม Dag Hammarskjold เล่าว่าเธอกำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้นักเรียนหันมาสนใจการเรียนมากขึ้น ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจทดลองระบบเกมในชั้นเรียนที่เรียกว่า “Classcraft” เธอบอกว่าเธอได้เห็นพัฒนาการของนักเรียนตั้งแต่เธอเริ่มใช้สื่อการสอนนี้ในเมื่อปีพ.ศ. 2560 และผลลัพธ์ที่ได้ทำให้ครูคนอื่นๆ หันมาใช้ระบบเกมนี้ด้วยเช่นกัน และว่าเด็กนักเรียนของเธอต่างติดเกมในชั้นเรียนนี้กันงอมแงม
ทุกครั้งที่ได้คำตอบที่ถูกต้อง นักเรียนจะได้รับคะแนนสะสมที่สามารถใช้ซื้อสิ่งของต่างๆ ในเกมได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำคะแนนไปแลกเปลี่ยนเป็นโอกาสในการฟังเพลงในชั้นเรียนหรือเข้าแข่งขันกับนักเรียนห้องอื่นๆ แต่คะแนนก็อาจจะถูกหักไปได้หากนักเรียนทำตัวไม่ดี
สถาบัน The Amana Academy ใน Atlanta รัฐ Georgia ก็ใช้ระบบ “Classcraft” ด้วยเช่นกัน คุณครู Laura Bruster กล่าวว่าอุปกรณ์การสอนนี้เป็นส่วนเสริมที่สำคัญในชั้นเรียนของเธอ เพราะทำให้เธอได้มีส่วนร่วมกับนักเรียน และว่าเธอไม่ได้เป็นเพียงแค่ครูเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ควบคุมความสนุกในห้องเรียนอีกด้วย
โรงเรียนมัธยม Quest to Learn ในนคร New York เป็นหนึ่งในโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกที่เปิดตัวการเรียนการสอนในรูปแบบเกมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นักวิจัยได้ติดตามวัดผลระยะยาวในการนำการศึกษาในรูปแบบเกมมาใช้กับนักเรียน และพบว่าในปีการศึกษาที่ผ่านมานักเรียน 43% ของนักเรียนที่โรงเรียนมัธยม Quest to Learn ผ่านเกณฑ์ของรัฐในการทดสอบภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับ 41% ของนักเรียนทั้งเมือง นอกจากนี้ 29% ของนักเรียนโรงเรียนนี้ผ่านเกณฑ์ของรัฐในการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของนักเรียนทั้งเมืองที่ผ่านเกณฑ์นี้ 33%
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนการเรียนเรียนการสอนด้วยระบบเกมนี้บอกว่า ไม่ควรใช้การทดสอบเพียงอย่างเดียวในการวัดผลนักเรียน