ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานเมื่อวันจันทร์ที่เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกซึ่งทำให้เกิดปัญหาภาวะอากาศปรวนแปรอาจทำให้ประชาชนราว 216 ล้านคนใน 6 ภูมิภาคของโลกต้องถูกผลักออกจากถิ่นที่อยู่อาศัยของตนภายใน 30 ปีข้างหน้า รวมทั้งยังอาจทำให้เกิด “hotspots” หรือพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านประชากรจากเรื่องนี้ขึ้นหลายแห่งในอีกเก้าปีต่อจากนี้หากไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วย
รายงานซึ่งธนาคารโลกตั้งชื่อว่า “Groundswell Part 2” นี้ ศึกษาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนซึ่งจะส่งผลผลักดันการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรภายในประเทศจากสาเหตุด้านภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ผลผลิตด้านการเกษตรที่ล้มเหลว รวมทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนอื่นๆ ต่อจากรายงานฉบับแรกเมื่อสามปีที่แล้ว
ในครั้งนี้ธนาคารโลกศึกษาผลกระทบของปัญหาโลกร้อนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลางโดยเฉพาะ และให้ตัวเลขว่าภายในปีค.ศ. 2050 หรืออีกราว 30 ปีต่อจากนี้พื้นที่บริเวณใต้ทะเลทรายซาฮาร่าของทวีปแอฟริกาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ จะมีประชากรถึงราว 86 ล้านคนที่ถูกผลักออกจากถิ่นที่อยู่ของตน ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคือ 49 ล้านคนและเอเชียใต้ 40 ล้านคน เป็นต้น
ธนาคารโลกเตือนด้วยว่า เพื่อชะลอปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาและเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ ควรต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดทำนโยบายที่เหมาะสมเพื่อเตรียม รับมือกับปัญหาเหล่านี้ล่วงหน้า