Your browser doesn’t support HTML5
ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังเผชิญกับวิกฤตไฟป่ากว่า 100 แห่งที่กำลังโหมกระหน่ำฝั่งตะวันตกของประเทศ
หนึ่งในนั้นคือไฟป่าดิกซี่ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่สร้างความเสียหายไปแล้วถึง 200,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 1,250,000 ไร่ นักวิจัยเตือนว่าอันตรายที่แฝงอยู่ในไฟป่า คือ มลพิษทางอากาศจากเขม่าควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวและเพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิดอีกด้วย
ควันจากไฟป่านั้นมีส่วนประกอบของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (particulate matter) เมื่อสูดเข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนมาก สามารถทำให้เกิดการอาการระคายเคืองต่างๆ เช่น น้ำมูกไหล คันคอ น้ำตาไหล บางครั้งควันเหล่านี้มีฝุ่นที่เล็กมากๆซึ่งขนาดของมันนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ไมครอน (PM 2.5)
ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายว่า ฝุ่นชนิดนี้สามารถเดินทางเข้าสู่ปอดได้ลึกและอาจเข้ากระแสเลือดได้ด้วย วิจัยหลายชิ้นต่างชี้ว่าโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ล้วนเป็นผลกระทบระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะฝุ่น PM 2.5
PM 2.5 จากไฟป่าอันตรายกว่าต้นกำเนิดชนิดอื่น
ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนียที่เมือง San Diegoในสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Nature Communications ที่พบว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไฟป่านั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากกว่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากแหล่งอื่นๆ เช่นจากท่อไอเสียของยานพาหนะ
ส่วนงาน วิจัยอีกชิ้น ในวารสาร Science Advances ได้ศึกษากลุ่มคนอาศัยอยู่ในรัฐ 3 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากควันไฟป่าที่มีฝุ่น PM 2.5 เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐวอชิงตัน และ รัฐโอเรกอน โดยพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด เนื่องจากการสูดดมควันไฟป่าที่มีฝุ่นชนิดดังกล่าวเข้าไปในระยะสั้นนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของอาการหอบหืด การเข้าห้องผู้ป่วยฉุกเฉินและการนอนโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากโรคทางเดินหายใจ และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
การป้องกันและการตระหนักถึงวิกฤตไฟป่า
วิกฤตไฟป่านั้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชากรที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และคนบางกลุ่มที่ไม่มีบ้านหรือ คนที่อาศัยอยู่ในที่ที่ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ เทียนจิน หลิว แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ศึกษาถึงผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในปีที่ผ่านมา เขายืนยันว่า ความเสี่ยงด้านสุขภาพนั้นมีมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางด้านสุขภาพทวีคูณจากวิกฤตไฟป่าและการระบาดของโควิด
หน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง California Air Resources Board (CARB) ในสหรัฐฯ ได้รณรงค์ให้ผู้คนป้องกันตนเองโดยการหมั่นตรวจเช็คคุณภาพอากาศ CARB ได้ติดตั้งเครื่องตรวจอากาศในเขตต่างๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเครื่องเหล่านี้จะชี้วัดความบริสุทธิ์ของอากาศตามดัชนีคุณภาพอากศ (Air Quality Index) และ แสดงข้อมูลที่ช่วยเตือนผู้คนหลบเข้าไปอยู่ในบ้านเมื่อค่า PM 2.5 อยู่ในปริมาณที่สูง
เชอรัล แมคซาเมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่ระบาดด้านระบบทางเดินหายใจของมหาวิทยาลัย โคโลราโด บอกว่า ควันจากไฟป่า ไม่ได้ถูกควบคุมจากหน่วยงานต่างๆเหมือนกับมลพิษจากการสัญจร หรือ ท่อไอเสีย เพราะฉะนั้น การรักษาสุขภาพนั้นจะขึ้นอยู่กับตัวเราและคนรอบข้างที่จะต้องทำความเข้าใจถึงคุณภาพและคำเตือนของสภาพอากาศ
วิกฤตไฟป่า คือ ‘New Normal’
ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เมืองเดนเวอร์ของรัฐโคโลราโดได้รับจากจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความบริสุทธิ์ของอากาศต่ำที่สุดในโลกเป็นเวลาติดต่อกัน 3 วันติดเนื่องจากไฟป่าดิกซี่ นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นักอุตุนิยมวิทยาหลายคนในฝั่งตะวันของสหรัฐฯ เช่น ที่นิวยอร์ก บอสตัน และ กรุงวอชิงตัน ได้รายงานถึงฟ้าที่เป็นสีส้ม ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากควันของไฟป่าที่ไหม้ในประเทศแคนาดาตอนกลาง
ท้ายสุด บาร์บารา แวลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารพิษและปอดแห่ง California Air Resources Board (CARB) ในสหรัฐฯ บอกว่า วิกฤตไฟป่าเป็นความปกติแบบใหม่ (new normal) ซึ่งต่อไป ไฟป่าก็จะมีระยะเวลาเผาไหม้ที่ยาวนานขึ้นและก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
นอกเหนือจากสหรัฐฯแล้ว ทั่วทุกมุมโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากการไฟป่าที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้น เช่นที่เขตไซบีเรียของรัสเซีย ไฟป่านั้นมีขนาดมหึมา ใหญ่กว่าไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมกัน ส่วนที่ประเทศกรีซและอิตาลี ผู้คนนับพันก็ต่างหนีอพยพออกจากเส้นทางไฟป่าที่ลุกไหม้มาหลายสัปดาห์ ทางด้านตรุกีก็กำลังเผชิญกับฤดูไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย