Your browser doesn’t support HTML5
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า การคลอดลูกส่วนมากของการคลอดลูกทั้งหมดทั่วโลกราว 140 ล้านคนต่อปี เป็นการคลอดลูกอย่างปลอดภัย ปราศจากภาวะเเทรกซ้อนใดๆ
แต่ WHO ชี้ว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีการแทรกแซงทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นอย่างมากโดยไม่จำเป็น เพราะเป็นการเเทรกแซงทางการแพทย์ที่เคยนำไปใช้เฉพาะกรณีจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงของเเม่และทารกเท่านั้น
การแทรกแซงทางการแพทย์เหล่านี้ รวมถึงการฉีดสารออกซิโทซิน (oxytocin) เพื่อเร่งคลอด เเละการผ่าตัดคลอดลูก
WHO รายงานว่า บรรดาผู้ให้บริการทางการแพทย์มีแนวโน้มที่ใช้การแทรกแซงทางการแพทย์ เมื่ออัตราการบีบตัวของมดลูกค่อนข้างช้ากว่าระดับที่ถือว่าปกติ โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเปิดของปากมดลูกที่อยู่ที่หนึ่งเซ็นติเมตรต่อหนึ่งชั่วโมง
โอลูเฟมี โอลาดาโพ (Olufemi Oladapo) เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ฝ่ายสุขภาพการเจริญพันธุ์เเละการวิจัยของ WHO (Reproductive Health and Research) กล่าวว่า การคลอดลูกของผู้หญิงแต่ละคนเเละการบีบตัวของมดลูกไม่เหมือนกัน และเป็นเรื่องปกติหากผู้หญิงบางคนจะใช้เวลานานกว่าคนอื่นหรือปากมดลูกเปิดช้ากว่าปกติ
เขากล่าวว่า WHO ได้ตั้งข้อตั้งข้อกำหนดอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเปิดของปากมดลูกไว้ถึง 5 เซ็นติเมตรต่อชั่วโมง ในระหว่างระยะแรกของการคลอด จนกระทั่งผู้หญิงพร้อมที่จะเบ่งทารก
โอลาดาโพ กล่าวว่า หากเป็นการคลอดลูกคนแรกก็ไม่ควรจะนานกว่า 12 ชั่วโมง เเละไม่ควรนานกว่า 10 ชั่วโมง หากเป็นการคลอดลูกคนที่สอง
เมื่อผู้หญิงที่กำลังคลอดลูกมีความคืบหน้า ปากมดลูกเปิดในระดับที่เป็นไปตามระยะเวลาที่ตั้งไว้ เเละไม่มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของเเม่เเละลูก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการแทรกเเซงทางการเเพทย์เพื่อช่วยคลอด
WHO เตือนว่า มีการใช้วิธีการเร่งคลอดโดยไม่จำเป็นเเละการแทรกแซงทางการแพทย์ที่อาจเป็นอันตรายอย่างมากในระดับทั่วโลกทั้งในประเทศยากจนเเละร่ำรวย เเละWHO ได้ออกแนวทางปฏิบัติใหม่ที่รวมเอาข้อเเนะนำที่ตั้งอยู่บนผลการวิจัย 56 ข้อเกี่ยวกับการดูแลที่ดีที่สุดสำหรับเเม่เเละทารกในระหว่างการคลอด เเละทันทีหลังคลอด
ข้อเเนะนำเหล่านี้รวมถึงการอนุญาตให้ผู้หญิงมีคนใกล้ชิดเข้าไปอยู่ในห้องคลอดด้วย การสื่อสารที่ดีระหว่างคนไข้กับผู้ให้บริการทำคลอด เเละการอนุญาตให้ผู้หญิงตัดสินใจเองว่า ต้องการจัดการอาการเจ็บปวดเเละการคลอดของตนอย่างไร
ตลอดจนให้เลือกท่าคลอดลูกเองตามความต้องการ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)