ยูเอ็น-อนามัยโลก เผยยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนโควิดให้ประชากรโลก 40% ภายในปีนี้

FILE - In this Tuesday, Jan. 19, 2021 file photo, a medical worker poses with a vial of the Sinopharm's COVID-19 vaccine in Belgrade, Serbia.

เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ร่วมเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่ โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชากรโลก 40% ภายในปีนี้ และเพิ่มเป็น 70% ภายในช่วงกลางปีหน้า

นายกูเตอร์เรส กล่าวในการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดีว่า ขณะนี้ทั่วโลกสามารถผลิตวัคซีนโควิดได้เกือบ 1,500 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้นน่าจะสามารถไปถึงประชากรในทุกประเทศได้ถึง 40% ก่อนสิ้นปีนี้ หากสามารถจัดหาเงินทุน 8,000 ล้านดอลลาร์สำหรับใช้ในการแจกจ่ายวัคซีนเหล่านั้นได้อย่างเท่าเทียม

เลขาฯ ยูเอ็น กล่าวอย่างขุ่นเคืองว่า "การไม่สามารถแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมได้นั้นไม่ได้ทำให้เกิดคำถามเรื่องความไม่ถูกต้องดีงามเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดคำถามเรื่องความโง่เขลาเบาปัญญาด้วย"

และว่า การที่ประเทศพัฒนาแล้วเร่งผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนเข็มสองเข็มสามจะไม่ได้ผลอะไรเลย หากส่วนอื่นๆ ของโลกยังคงไม่ได้ฉีดวัคซีน และมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัสเกิดขึ้นเรื่อยๆ

SEE ALSO: จริงหรือไม่? สหรัฐฯ คือ ‘คลังวัคซีนโควิด-19’ ของโลก ตามที่ ไบเดนประกาศไว้

ด้านนายเกเบรเยซุส กล่าวว่า ขณะนี้มีการแจกจ่ายวัคซีนไปแล้ว 6,500 ล้านโดสทั่วโลก และขาดอีก 5,000 ล้านโดสเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้ประชากรโลก 70% ภายในกลางปีหน้า ซึ่งสามารถทำได้หากพิจารณาจากอัตราการผลิตวัคซีนในทุกวันนี้

เขากล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือไม่ใช่การผลิตไม่เพียงพอ แต่เป็นปัญหาที่การกระจายวัคซีนเหล่านั้นมากกว่า

WHO เปิดเผยว่า เป้าหมายเดิมคือการฉีดวัคซีนให้ประชากรทุกประเทศอย่างน้อย 10% ภายในเดือนกันยายนนั้นไม่เป็นไปตามเป้า โดยมี 56 ประเทศที่ยังไม่สามารถทำได้ ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ซึ่งต้องการวัคซีนรวมกันอีกอย่างน้อย 200 ล้านโดสเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ผู้อำนวยการ WHO บอกว่า การทำให้เป้าหมาย 40% ภายในปีนี้เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยนลำดับขั้นก่อนหลังของประเทศที่จะได้รับวัคซีนบริจาคจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX) กล่าวคือ ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเกิน 10% แล้วควรเสียสละให้ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำเป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนบริจาคก่อน

SEE ALSO: ทูตไทย เผย สหรัฐฯเริ่มการประสานคุยคณะทำงานส่งมอบวัคซีน 1 ล้านโดสแล้ว

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ใหม่ยังรวมถึงการแบ่งปันเทคโนโลยีการคิดค้นพัฒนาและใบอนุญาตวัคซีนของประเทศพัฒนาแล้วให้แก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต รวมทั้งขอให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ เร่งผลิตให้กับโครงการของยูเอ็นและอนามัยโลกก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อจะได้แจกจ่ายให้ประเทศรายได้ต่ำอย่างทั่วถึง

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินต่างๆ ก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการให้เงินทุนแก่ประเทศที่ขาดแคลนปัจจัยสำหรับการขนส่งวัคซีนไปยังพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เป็นต้น

ทั้งนี้ WHO ยังคงเน้นย้ำกระบวนการฉีดวัคซีน 3 ลำดับ โดยลำดับแรกคือประชากรสูงอายุ บุคลากรด่านหน้า และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ลำดับที่สองคือประชากรวัยผู้ใหญ่ และลำดับสุดท้ายคือเยาวชน