อนามัยโลกจับมือ 'กูเกิล' ต่อสู้การปล่อยข่าวเท็จออนไลน์กรณีโคโรนาไวรัส

Passengers arrive at LAX from Shanghai, China, after a positive case of the coronavirus was announced in the Orange County suburb of Los Angeles, California, U.S., January 26, 2020.

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำลังทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยี Google เพื่อรับรองว่า เมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส ประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจาก WHO ก่อนเป็นที่แรก

ผอ.ใหญ่ขององค์การอนามัยโลก เทดรอส อัทนอม เกเบรเยซุส กล่าวในพิธีเปิดการประชุมของ WHO ในวันจันทร์ว่า สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Twitter, Facebook, Tencent และ TikTok ต่างใช้มาตรการหลายอย่างในการจำกัดการกระจายข้อมูลผิด ๆ และข่าวลือต่าง ๆ เกี่ยวกับการระบาดของโคโรนาไวรัส ที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วใน 23 ประเทศ

เราต้องการข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ใช่มาจากความหวาดกลัว ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ข่าวลือ
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก


และว่า ขณะนี้ WHO กำลังทำงานกับ Google เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลของ WHO จะปรากฎขึ้นมาในอันดับต้น ๆ ในผลการค้นหาของ Google

ก่อนหน้านี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ของ WHO ต่างออกมากล่าวชมเชยการทำงานของรัฐบาลจีนในการตอบสนองและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส ตลอดจนการควบคุมข่าวลือต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดกระแสความตื่นกลัวมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวจีนและชาวเอเชียชาติอื่น ๆ

ผอ.ใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า "แม้แต่ในประเทศจีน เชื้อไวรัสนี้ก็ยังมิได้ระบาดไปในทุกพื้นที่ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสนี้ในระดับเท่า ๆ กัน" และว่า "เราต้องการข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่ใช่มาจากความหวาดกลัว ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ข่าวลือ และเราต้องการความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่การป้ายมลทิน"

นับตั้งแต่เกิดการระบาดเมื่อเดือนธันวาคม มีข่าวลือต่าง ๆ ปรากฎมากมายในโลกออนไลน์ รวมถึงข้อมูลข่าวลือที่ว่าไวรัสชนิดนี้ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลอง และมีการผลิตวัคซีนมานานแล้ว ตลอดจนการพูดถึงวิธีการรักษาแปลก ๆ ที่ไม่สามารถใช้ได้จริง

เมื่อวันอาทิตย์ องค์การอนามัยโลกระบุว่าขณะนี้กำลังเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส หรือ infodemic ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ผิดและถูก ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่ประชาชนทั่วไปจะหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้เมื่อพวกเขาต้องการ

และนั่นยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของ WHO ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อมูลเท็จที่อาจเป็นอันตรายด้านสาธารณสุขในวงกว้างได้ เช่น วิธีป้องกันหรือวิธีรักษาผิด ๆ

ขณะเดียวกัน นายเกเบรเยซุสยังขอให้ประเทศต่าง ๆ อย่าปิดพรมแดนเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปจีนเข้าประเทศของตน เพราะจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้ง สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิสราเอล มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่างประกาศควบคุมการเข้าประเทศของชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปจีนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา