Your browser doesn’t support HTML5
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า โรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้น จะสร้างภาระทางสังคมเเละเศรษฐกิจอย่างมากเมื่อคนเราเมื่ออายุมากขึ้น เเละป่วยด้วยโรคนี้กันมากขึ้นทั่วโลก
WHO ประมาณว่า ราว 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกสูงอายุกำลังป่วยด้วยโรคนี้ เเละจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา ซึ่งโรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้นไม่ได้กระทบต่อคนในประเทศร่ำรวยเท่านั้น เเต่ยังเป็นโรคที่พบมากในประเทศยากจนอีกด้วย
องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมตามวัยในปัจจุบันอยู่ที่ 818,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราวหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก
ทารัน ดูอา (Tarun Dua) เจ้าหน้าที่การเเพทย์เเห่งฝ่ายสุขภาพจิตเเละการใช้สารเสพติดขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการดูเเลผู้ป่วยนี้จะเพิ่มขึ้นไปสูงกว่าสองล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2030
ยิ่งไปกว่านี้ยังมีประเด็นความรังเกียจทางสังคม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงสำคัญมากที่ต้องมีแผนการรองรับทางสาธารณสุข
เเละในปีนี้ ชาติสมาชิกทุกประเทศได้เริ่มต้นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง ด้วยการรับรองเเผนปฏิบัติการโรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้น
ดูอา เจ้าหน้าที่การแพทย์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า แผนปฏิบัติการนี้เน้นที่การดูแลคนที่เป็นโรคนี้ การป้องกันเเละการสนับสนุนเงินทุนเพื่อหาทางรักษาโรค เธอกล่าวว่าการสร้างความตื่นตัวกับโรคนี้มีความสำคัญมาก
ดูอา กล่าวว่า คนจำนวนมากมองว่าโรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้นเป็นเรื่องปกติของการเเก่ตัว ซึ่งไม่เป็นความจริง เธอกล่าวว่า คนเราจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อโรคเเละการป้องกันโรค เพราะปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยเดียวกันกับปัจจัยของโรคไม่ติดต่อ
ดังนั้น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีคุณค่า การไม่สูบบุหรี่ เเละลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเเต่จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้นลง
นอกเหนือจากนี้ เจ้าหน้าที่การแพทย์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ผู้สูงวัยที่เป็นโรคซึมเศร้า ควรเข้ารับการรักษาโรคอย่าละเลย และการเข้าสังคมเเละการฝึกสมองเป็นประจำ เป็นยุทธวิธีอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้นได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)