Your browser doesn’t support HTML5
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ปัจจุบันมะเร็งกลายเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก แม้ว่าครั้งหนึ่งโรคมะเร็งเคยถือเป็นโรคของคนในประเทศร่ำรวยเท่านั้น
ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทั้งหมด เป็นคนในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชี้ว่า มีการคาดการณ์ว่าการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในบรรดาประเทศไม่ร่ำรวย จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 8 ล้าน 2 เเสนคนต่อปี ไปอยู่ที่ 9 ล้านกว่าคน ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า
Etienne Krug ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการโรคไม่ติดต่อ ความพิการ ความรุนแรง และการป้องกันการบาดเจ็บ แห่งองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า นอกจากมะเร็งเป็นเหตุให้เสียชีวิตเเล้ว ยังสร้างค่าใช้จ่ายมหาศาลอีกด้วย
เขากล่าวว่า มะเร็งได้ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นตัวเงินไปเเล้วราว 1 พัน 6 ร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยตัวเลขนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับระบบการดูแลสุขภาพ
เขากล่าวว่าค่าใช้จ่ายในการบำบัดโรคมะเร็งสูงมาก และยังทำให้เกิดการสูญเสียด้านเเรงงานอีกด้วย
Krug เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่าในอดีตที่ผ่านมา คนมองว่าหากเป็นมะเร็งก็เหมือนกับต้องโทษประหารชีวิต แต่ปัจจุบัน ความคิดนี้ได้เปลี่ยนไป เพราะเราสามารถป้องกันมะเร็งได้ด้วยการกำจัดปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกสูบบุหรี่ ปรับอุปนิสัยการกินให้ดีขึ้น ลดระดับมลพิษทางอากาศ และการลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บริโภคลง
นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า มีหลายวิธีที่ช่วยคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งให้รอดชีวิตจากโรค โดยเฉพาะการตรวจพบมะเร็งแต่เนิ่นๆ และการตรวจคัดกรอง ตลอดจนปรับปรุงการบำบัดให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีบำบัดและการดูแลผู้ป่วยเเบบประคับประคอง
สำหรับวันมะเร็งโลกในปีนี้ ทางองค์การอนามัยโลกได้เน้นความสำคัญของการตรวจพบมะเร็งแต่เนิ่นๆ และชี้ว่าผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งเเต่เนิ่นๆ และได้รับการบำบัดรักษาทันที จะมีโอกาสที่สูงขึ้นในการรักษาให้หาย
โดยเฉพาะคนที่เป็นมะเร็งทรวงอก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังเน้นด้วยว่า การตรวจพบมะเร็งเเต่เนิ่นๆ ตั้งเเต่ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาลดลง
(รายงานโดย Lisa Schlein / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)