Your browser doesn’t support HTML5
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไม่ว่าจะเป็นส่วนใดในโลก คนสมัยนี้อายุยืนกว่าเดิม แต่เมื่อยิ่งอายุสูงขึ้น คนเรายิ่งประสบกับปัญหาสุขภาพที่เรื้อรังมากขึ้นและส่งผลให้คุณภาพของชีวิตลดลง
องค์การอนามัยโลกชี้ว่าภายในปีคริสตศักราช 2050 หรืออีก 36 ปี คาดว่าประชากรโลกราวสองพันล้านคนจะอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นสองเท่าของตัวเลขปัจจุบันที่ 841 ล้านคน องค์การอนามัยโลกชี้ว่าราว 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสูงวัยสองพันล้านคนจะเป็นประชากรในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ไม่ใช่ประชากรในประเทศร่ำรวย
Islene Araujo ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายและยุทธศาสตร์แห่งฝ่าย Aging and Life Course องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า อายุขัยของคนในแอฟริกาในปัจจุบันอยู่ที่ 60 ปี เธอกล่าวว่าโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นอาการเส้นเลือดในสมองแตกและเซลล์ตายเพราะขาดอ๊อกซิเจนเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรสูงวัยเธอกล่าวว่าผู้รอดชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกประสบกับอาการพิการทางร่างกายและสมองซึ่งต้องการการดูแลพิเศษ
คุณ Araujo กล่าวว่าเราสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจได้ด้วยการควบคุมอาการความดันโลหิตสูง คนราว 10% ในแอฟริกาอาจจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ 80% ของคนเหล่านี้ในประเทศแอฟริกาใต้กลับไม่เข้ารับการรักษา เธอเห็นว่าการบำบัดโรคความดันโลหิตสูงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการเสียชีวิตลง
ด้านคุณ Somnath Chatterji เจ้าหน้าที่ด้านระบบสถิติและข้อมูลทางสุขภาพแห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่ามียุทธศาสตร์หลายอย่างที่ไม่สิ้นเปลืองเงินที่ช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เขายกตัวอย่างว่าการลดปริมาณเกลือในอาหารที่รับประทานจะมีผลดีอย่างมากต่อสุขภาพ และว่ายุทธศาสตร์ที่สองคือการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ จำเป็นต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการด้านสุขภาพพื้นฐาน สามารถตรวจหาโรคความดันสูงและเบาหวานตั้งแต่เริ่มเป็นแต่เนิ่นๆเพื่อบำบัดอาการก่อนที่จะโรคจะรุนแรงจนทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นตามไปด้วย ส่วนประการที่สาม เขาชี้ว่าต้องมีการขยายบริการทางการแพทย์เพื่อการป้องกันโรคให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงผ่านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายที่ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น
รายงานขององค์การอนามัยโลกนี้ได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนทางนโยบายต่างๆเพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงวัยยังทำงานต่อไปเลยวัยเกษียณอายุ และให้ประเทศต่างๆมีระบบการประกันสุขภาพแก่ประชาชนเพื่อไม่ให้ผู้สูงวัยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง
รายงานระบุด้วยว่าประชาชนทุกกลุ่มอายุไม่ควรสูบบุหรี่ ต้องออกกำลังกายมากขึ้น ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนสร้างอุปนิสัยการกินที่ดี วิธีปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังลงได้ในอนาคต