รายงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาวเพิ่งเปิดออกมาในวันศุกร์ ระบุว่า อิหร่านได้ช่วยจุดหาวัสดุต่าง ๆ ให้รัสเซียเพื่อสร้างโรงงานผลิตโดรนทางภาคตะวันออกของกรุงมอสโก ขณะที่ เครมลินเชื่อว่า ตนจะมีเสบียงอาวุธเพื่อใช้สนับสนุนการรุกรานยูเครนได้อย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ เชื่อว่า โรงงานแห่งหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘อาลาบูกา’ ของรัสเซียน่าจะเริ่มเปิดทำการได้ในต้นปีหน้านี้แล้ว ขณะที่ ทำเนียบขาวเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมของเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวที่บันทึกไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนซึ่งเชื่อว่า “น่าจะเป็นที่ตั้ง” ของโรงงานที่ว่านี้ด้วย
รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ เชื่อว่า กรุงเตหะรานและกรุงมอสโกกำลังพิจารณาที่จะเปิดโรงงานผลิตโดรนในรัสเซียเพื่อช่วยสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน โดยรายงานข่าวกรองฉบับใหม่ชี้ว่า โครงการดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในแคว้นเยลาบูกา สาธารณรัฐตาตาร์สถานซึ่งเป็นเขตปกครองตนเอง มีความคืบหน้ามากกว่าแค่แผนการแล้ว
ทั้งนี้ อิหร่านออกมาบอกก่อนหน้านี้ว่า ตนส่งโดรนให้รัสเซีย ตั้งแต่ก่อนสงครามในยูเครนจะเริ่มต้น ไม่ใช่หลังจากนั้น
SEE ALSO: ตรวจสอบข่าว: รัสเซียยัน ไม่ได้ใช้โดรนของอิหร่านโจมตียูเครน จริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ประเมินว่า อิหร่านยังคงเดินหน้านำส่งโดรนโจมตีให้กับกองทัพรัสเซียอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยนำส่งทางเรือผ่านทะเลแคสเปียน
ข้อมูลของทำเนียบขาว จนถึงเดือนพฤษภาคม ระบุว่า รัสเซียได้รับโดรนโจมตีจากอิหร่านไปแล้วหลายร้อยลำ ทั้งยังได้รับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดรนด้วย
จอห์น เคอร์บี กล่าวว่า “นี่คือความเป็นหุ้นส่วนด้านกลาโหมเต็มรูปแบบที่เป็นภัยต่อยูเครน ต่อเพื่อนบ้านของอิหร่าน และต่อประชาคมโลก” และว่า “เราจะเดินหน้าใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีเพื่อเปิดโปงและสกัดกั้นกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งรวมถึง การแบ่งปัน[ข้อมูล]เรื่องนี้กับสาธารณะ --- และเราก็เตรียมตัวที่จะทำมากกว่านั้นแล้วด้วย”
ในวันศุกร์ รัฐบาลปธน.ไบเดนออกคำแนะนำไปยังภาคธุรกิจและรัฐบาลประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยออกมาตรการต่าง ๆ ในการทำให้มั่นใจว่า แต่ละฝ่ายจะไม่ได้มีส่วนช่วยอิหร่านพัฒนาโครงการผลิตโดรนโดยไม่ตั้งใจ
เอพี รายงานว่า หนังสือจากกระทรวงพาณิชย์ ต่างประเทศ ยุติธรรมและคลังของสหรัฐฯ ระบุว่า สิ่ง “ที่มีความสำคัญก็คือ การที่ภาคอุตสาหกรรมของเอกชนรับรู้ถึงภาระความรับผิดชอบทางกฎหมาย” ในการปฏิบัติตามมาตรการลงโทษและควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและอังกฤษ ต่างออกกฎใหม่ ๆ เพื่อหวังตัดเส้นทางการนำส่งชิ้นส่วนผลิตโดรนไปยังรัสเซียและอิหร่านแล้ว
- ที่มา: เอพี